สนข.เปิดรับฟังความคิดเห็น ศึกษาแผนแม่บทจราจรและแผนแม่บทพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะในเขตเมืองนครราชสีมา วางโครงข่ายรถไฟฟ้ารางเบา (Light Rail) แบ่ง 3 ระยะ วงเงินลงทุนรวม 3.26 หมื่นล้าน โดยมีระบบรถโดยสารเป็นขนส่งรอง
นางวิไลรัตน์ ศิริโสภณศิลป์ รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เป็นประธานเปิดการสัมมนารับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 3 โครงการศึกษาแผนแม่บทจราจรและแผนแม่บทพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะในเขตเมืองนครราชสีมา ซึ่งมีผู้แทนจากหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา ประชาชน และสื่อมวลชน เข้าร่วมงานสัมมนา จำนวนประมาณ 240 คน โดยเปิดเผยว่า ตามกรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทย พ.ศ. 2558-2565 ซึ่งในระยะเร่งด่วนจะดำเนินการพัฒนาโครงข่ายคมนาคมเชื่อมโยงกับเมืองหลักในภูมิภาค และแก้ไขปัญหาการจราจรจากเมืองหลักในภูมิภาคด้วยระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน ซึ่งจังหวัดนครราชสีมาเป็นจังหวัดที่มีศักยภาพ มีความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ สังคม และการท่องเที่ยว เป็นศูนย์กลางการเดินทางของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมถึงการเป็นประตูสู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่งผลให้เกิดปัญหาปริมาณการจราจรภายในจังหวัดหนาแน่น การกระจายสินค้าและบริการ ตลอดจนการขนส่งสาธารณะไม่คล่องตัว
ทั้งนี้ สนข.จึงได้ดำเนินการศึกษาเพื่อจัดทำแผนแม่บทจราจรและแผนแม่บทพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะในเขตเมืองนครราชสีมา เพื่อเป็นแผนที่นำทาง (Road map) ครอบคลุมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการจราจรและขนส่งสาธารณะ ซึ่งที่ผ่านมา สนข.ได้ลงพื้นที่จัดประชุมกลุ่มย่อย (Focus Group) เพื่อหารือหรือพบปะกับกลุ่มผู้นำชุมชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จำนวน 12 ครั้ง และได้มีการจัดสัมมนาเพื่อระดมความคิดเห็นไปแล้วจำนวน 2 ครั้ง เพื่อให้ประชาชนและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้เข้ามารับรู้และมีส่วนร่วมในการดำเนินโครงการตั้งแต่ขั้นตอนศึกษา การวางแผน
ซึ่งจากผลการศึกษาพบว่าระบบขนส่งสาธารณะที่เหมาะสมกับเมืองนครราชสีมา คือ ระบบรถแบบ LRT หรือ Light Rail Transit System ซึ่งจะเป็นระบบหลัก และมีระบบรถโดยสาร (Bus Technology) เป็นระบบรอง สำหรับแนวเส้นทางระบบขนส่งสาธารณะ มีทั้งหมด 3 เส้นทางหลัก ได้แก่ สายสีเขียว สายสีส้ม และสายสีม่วง ซึ่งจุดจอด/สถานีจะมีระยะห่างกันประมาณ 1 กิโลเมตร โดยการก่อสร้างจะแบ่งออกเป็น 3 ระยะ วงเงินลงทุนรวม 32,600 ล้านบาท ประกอบด้วย
ระยะที่ 1 มี 2 เส้นทาง ได้แก่ สายสีส้มเข้ม เส้นทางเริ่มจากแยกประโดก-ถนนช้างเผือก-คูเมืองเก่า ระยะทาง 9.81 กิโลเมตร จำนวน 17 สถานี และสายสีเขียวเข้ม เส้นทางเริ่มจากตลาดเซฟวัน-ถนนมุขมนตรี-สถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพบ้านนารีสวัสดิ์ ระยะทาง 11.17 กิโลเมตร จำนวน 18 สถานี วงเงินลงทุน 14,100 ล้านบาท
ระยะที่ 2 สายสีม่วงเข้ม เส้นทางเริ่มจากตลาดเซฟวัน-ถนนมิตรภาพ-สถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพบ้านนารีสวัสดิ์ ระยะทาง 11.92 กิโลเมตร จำนวน 9 สถานี วงเงินลงทุน 4,900 ล้านบาท
ระยะที่ 3 มี 3 สาย คือ สายสีส้มอ่อน เส้นทางเริ่มจากโรงเรียนเทศบาล 1-หัวทะเล-ดูโฮม ระยะทาง 5.37 กิโลเมตร จำนวน 4 สถานี สายสีเขียวอ่อน เส้นทางเริ่มจากสถานีทดลองการใช้น้ำชลประทานที่ 3 (ห้วยบ้านยาง)-ตลาดเซฟวัน และสถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพ บ้านนารีสวัสดิ์-สำนักงานขนส่งจังหวัดนครราชสีมา สาขา 2 ระยะทาง 12.12 กิโลเมตร จำนวน 13 สถานี และสายสีม่วงอ่อน เส้นทางเริ่มจากมหาวิทยาลัยวงษ์ชวลิตกุล-แยกจอหอ-ค่ายสุรนารายณ์ ระยะทาง 4.48 กิโลเมตร จำนวน 3 สถานี วงเงินลงทุนรวม 13,600 ล้านบาท
โดยการศึกษานี้ผ่านขั้นตอนการสรุปผลการศึกษาระบบเทคโนโลยีและโครงข่ายที่เหมาะสมสำหรับเมืองนครราชสีมา รวมถึงการคัดเลือกเส้นทางสำหรับเป็นโครงการนำร่องเพื่อออกแบบแนวคิดเบื้องต้น (Conceptual Design) สำหรับการสัมมนารับฟังความคิดเห็น ครั้งที่ 3 สนข.ได้นำเสนอผลการดำเนินการที่ผ่านมาของโครงการ ประกอบด้วย ภาพรวมผลการศึกษา การพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะที่เหมาะสมกับเมืองนครราชสีมา รวมถึงรายละเอียดการบูรณาการการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะที่เหมาะสมกับเมืองนครราชสีมา เพื่อรับฟังความเห็นของประชาชนในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมาก่อนจัดทำร่างแผนแม่บทจราจรและแผนแม่บทพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะในเขตเมืองนครราชสีมา
ซึ่งการพัฒนารูปแบบการให้บริการที่ตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนมีบทบาทที่สำคัญต่อการแก้ไขปัญหาและพัฒนาการจราจรและขนส่งของพื้นที่เป็นอย่างมาก รวมทั้งส่งเสริมการเดินทางของประชาชนในพื้นที่ให้มีความสะดวกสบาย มีความปลอดภัยในการเดินทาง ช่วยให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน เกิดความเสมอภาคและเท่าเทียมกันทางสังคม ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้น
ว่าที่ ร้อยตรี นิรันดร์กล่าวว่า จังหวัดนครราชสีมา “ประตูสู่อีสาน ดินแดนเมืองหญิงกล้า ผ้าไหมดี หมี่โคราช ปราสาทหิน ดินด่านเกวียน” เป็นจังหวัดขนาดใหญ่เป็นอันดับ 1 ของประเทศ มีประชากรมากเป็นอันดับ 2 ของประเทศ อย่างไรก็ตาม ชาวจังหวัดนครราชสีมาได้ตระหนักดีว่า บริบทและวิถีชีวิตของสังคมเมืองมีการเปลี่ยนแปลงและขยายตัวอย่างรวดเร็ว จนส่งผลให้ความน่าอยู่ของเมืองลดลง จากปัญหาการจราจรที่ติดขัดเนื่องจากจำนวนรถที่มากกว่าพื้นที่ถนน ความแออัดของเมือง มลภาวะ มีความล่าช้าในการเดินทาง เนื่องจากระบบขนส่งสาธารณะมีประสิทธิภาพไม่เพียงพอ แนวทางการแก้ปัญหาเหล่านี้ได้สะท้อนอยู่ในยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดนครราชสีมา 4 ปี (พ.ศ. 2557-2560) ซึ่งการดำเนินโครงการศึกษาแผนแม่บทจราจรและแผนแม่บทพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะในเขตเมืองนครราชสีมา เป็นโครงการที่สนับสนุนและสอดคล้องกับเป้าประสงค์ของยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดนครราชสีมา 4 ปี เป็นอย่างยิ่ง
ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อจังหวัดนครราชสีมา จึงขอเชิญชวนทุกภาคส่วนของจังหวัดนครราชสีมาเข้ามารับรู้และมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นในทุกขั้นตอนการศึกษาวางแผนโครงการ ซึ่งจะทำให้การตัดสินใจดำเนินโครงการเป็นไปด้วยความโปร่งใส ชอบธรรม และเป็นประโยชน์สูงสุดต่อส่วนรวม และประชาชนในจังหวัดนครราชสีมามากที่สุด