ผู้จัดการรายวัน 360 - ศูนย์องค์ความรู้ด้านลักซ์ชัวรี เผยชอปปิ้งออนไลน์เติบโตเร็ว กระทบการตลาดสินค้าลักซ์ชัวรี่แบรนด์ดังในประเทศ เหตุลูกค้าสามารถช้อปผ่านข้ามประเทศเพิ่มสูงขึ้น แนะผู้ประกอบการใช้ช่องทางออนไลน์สร้างความสนใจให้ลูกค้าเดินทางมาจับจ่ายที่หน้าร้าน พร้อมป้องกันปัญหา “รับหิ้วสินค้า” และการทำตลาด “เกรย์ มาร์เกต” แนะสินค้าหรูแแบรนด์ไทยเร่งปรับกลยุทธ์ครองใจคนไทย
ดร.ฐิติพร สงวนปิยะพันธ์ ผู้อำนวยการศูนย์องค์ความรู้ด้านลักชัวรี่ (LUXELLENCE CENTER) ภายใต้การบริหารของบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า จากการเติบโตด้านการขายผ่านช่องทางออนไลน์อาจมีผลทำให้ตลาดสินค้าหรูแบรนด์ดังจากต่างประเทศและแบรนด์ไทย (Luxury Brand) ในประเทศไทยมีการแข่งขันรุนแรงขึ้น แม้ปัจจุบันผู้บริโภคคนไทยยังคงนิยมเลือกซื้อสินค้าหรูจากช่องทางร้านสาขาเป็นหลัก โดยใช้ช่องทางออนไลน์เพียงด้านการสืบค้นข้อมูลเพิ่มเติมและเปรียบเทียบราคา แต่ผู้ประกอบการแบรนด์สินค้าหรูจำเป็นต้องพยายามใช้ช่องทางออนไลน์ในการนำเสนอประสบการณ์ที่แตกต่างให้ผู้บริโภคและดึงดูดความสนใจให้เดินทางมาจับจ่ายที่หน้าร้าน รวมถึงป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาการรับซื้อสินค้าผ่านอินสตาแกรม รวมถึงปัญหา “Grey Market” หรือตลาดการซื้อขายแลกเปลี่ยนผลิตภัณฑ์โดยที่ผู้จำหน่ายเป็นผู้นำเข้าโดยไม่ได้รับการแต่งตั้งอย่างเป็นทางการจากผู้ผลิต หรือเจ้าของผลิตภัณฑ์
สำหรับสินค้าหรูที่คนไทยชื่นชอบสูงในลำดับต้นๆ ได้แก่ เสื้อผ้า นาฬิกา เครื่องหนัง รวมถึงรถยนต์ โดยมีประเด็นที่น่าสนใจ คือ คนไทยกลับไม่ให้ความสำคัญกับสินค้าหรูประเภท “เครื่องประดับและจิวเวลรี” ใน 3 ลำดับแรก อาจเป็นเพราะคนไทยมีความคุ้นเคยในฐานะเป็นฐานการผลิตใหญ่ของโลก ในขณะที่ผู้ผลิตจิวเวลรีแบรนด์หรูจากต่างชาติเริ่มเข้ามาทำตลาดในประเทศไทยและเปิดร้านสาขาในห้างสรรพสินค้าชั้นนำมากขึ้น เช่น Cartier, Van Cleef & Arpels, Tiffany & Co, Bulgari, Pomelato เป็นต้น
อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจ คือ “สินค้าหรูแบรนด์ไทย” ในมุมมองของคนไทยปรากฏว่า คนไทยส่วนใหญ่กลับคิดไม่ออก หรืออาจคิดถึงแบรนด์ที่ยังไม่จัดอยู่ในระดับลักซ์ชัวรี โดยในปี 2558 พบว่าสินค้าแบรนด์ไทยที่คนไทยคิดถึง คือ สายการบิน “การบินไทย” ห้างสรรพสินค้า “เซ็นทรัล” รวมถึง “เกรย์ฮาวด์” ในขณะที่ปี 2559 พบว่าเป็นแบรนด์ “นารายา” ซึ่งแม้จะเป็นเครื่องบ่งชี้ว่าแบรนด์ไทยยังไม่แข็งแกร่งมากนัก แต่ถือเป็นโอกาสดีที่เจ้าของแบรนด์จะคิดกลยุทธ์ต่างๆ ในการพัฒนาและสร้างแบรนด์ให้เป็นที่จดจำของผู้บริโภคคนไทย
“แม้คนไทยส่วนมากจะมีความชื่นชอบเรื่องโปรโมชันการลดแลกแจกแถม แต่อาจใช้ไม่ได้กับสินค้าหรู ผู้ประกอบการจึงควรใช้กลยุทธ์ในรูปแบบอื่นๆ เช่น การมอบของขวัญ ประสบการณ์ หรือสิทธิพิเศษต่างๆ เพิ่มขึ้น เป็นต้น เพราะจากภาวะตลาดการจับจ่ายสินค้าหรูของคนไทยในปี 2559 แม้จะเติบโตไม่มากโดยหลายๆ แบรนด์ยังไม่ขยายสาขาเพิ่มมากนัก แต่ถือเป็นสถานการณ์ด้านบวกเพราะในแง่ของการซื้อต่อคนต่อครั้งของหลายๆ แบรนด์จากต่างประเทศกลับเติบโตขึ้น”
ดร.ฐิติพรกล่าวด้วยว่า การจับจ่ายสินค้าหรูของคนไทยถือเป็น “คำนิยาม” เฉพาะรายของแต่ละบุคคลซึ่งไม่มีมาตรฐานที่ชัดเจนและกำหนดไม่ได้ว่าถูก หรือผิด ยกตัวอย่างเช่น ผู้บางบริโภคบางกลุ่มอาจคิดว่าการโดยสารเครื่องบินชั้นธุรกิจถือเป็นการจับจ่ายบริการระดับลักซ์ชัวรี่แล้ว แต่บางกลุ่มอาจเห็นว่าต้องเป็นการเช่าเครื่องบินเจ็ตเหมาลำถึงจะเป็นลักซ์ชัวรี เป็นต้น แต่สิ่งหนึ่งที่คนไทยมีพฤติกรรมเหมือนกันในการจับจ่ายสินค้าหรูคือใช้ “อารมณ์และความรู้สึก” เป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจซื้อ ทั้งยังต้องใช้ความมั่นใจเกี่ยวกับเศรษฐกิจและมีความคิดแง่บวกเกี่ยวกับอนาคตจึงจะตัดสินใจซื้อ