รับเหมาสายสีส้มเตรียมลงพื้นที่ เริ่มปิดจราจรถนนรามคำแหงช่วงซอย 139 และซอย 193 ฝั่งละ 1 เลน ศุกร์ที่ 14 ก.ค.นี้ หลัง 4 ทุ่ม ด้านตำรวจออกข้อบังคับ ห้ามจอดรถข้างทางตลอดแนวก่อสร้าง 24 ชม.
วันนี้ (12 ก.ค.) พล.ต.ต.จิรพัฒน์ ภูมิจิตร รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (รอง ผบ.ชน.) ดูแลงานจราจร นายกิตติกร ตันเปาว์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิศวกรรมและสถาปัตยกรรม ในฐานะรองผู้อำนวยการโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และนายปริญญา วีระพันธ์ ผู้แทนบริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ผู้รับจ้างสัญญาที่ 4 ได้ลงพื้นที่ก่อสร้าง พร้อมแจ้งแผนปิดจราจร ถนนรามคำแหง 1 ช่องจราจรชิดเกาะกลาง 2 ช่วง ตั้งแต่คลองสะพานสูง-รามคำแหง 139 และซอยรามคำแหง 193 ถึงซอยรามคำแหง 199 เพื่อดำเนินการก่อสร้างเสาเข็มทดสอบ ช่วงคลองบ้านม้า-สุวินทวงศ์
โดยผู้รับจ้างสัญญา 4 จะเริ่มก่อสร้างเสาเข็มทดสอบบริเวณเกาะกลางถนนรามคำแหงเพื่อก่อสร้างทางวิ่งรถไฟฟ้ายกระดับจำนวน 2 จุด คือ จุดที่ 1 บริเวณคลองสะพานสูงถึงซอยรามคำแหง 139 ระยะทางประมาณ 300 เมตร จุดที่ 2 บริเวณซอยรามคำแหง 193 ถึงซอยรามคำแหง 199 ระยะทางประมาณ 300 เมตร จึงต้องปิดช่องจราจรทั้งฝั่งขาเข้าและฝั่งขาออกฝั่งละ 1 ช่องจราจรชิดเกาะกลางถนน จากฝั่งละ 3 ช่องเหลือฝั่งละ 2 ช่องจราจร
ซึ่งการจัดการจราจรในระหว่างดำเนินการก่อสร้างนั้นจะมีการออกข้อบังคับ ห้ามจอดรถบริเวณข้างทางตลอดแนวก่อสร้าง 24 ชม. จนกว่าการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้มจะแล้วเสร็จเพื่อใช้เป็นช่องจราจรทดแทน โดยในคืนวันศุกร์ที่ 14 ก.ค. ตั้งแต่เวลา 22.00 น.เป็นต้นไป ผู้รับเหมาจะมีการวางแนวแบริเออร์แบบอ่อนทั้ง 2 จุด เพื่อให้ประชาชนได้วางแผนการเดินทางในเช้าวันจันทร์ที่ 17 ก.ค.
นายกิตติกร ตันเปาว์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิศวกรรมและสถาปัตยกรรม รฟม. กล่าวว่า สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี เป็นโครงสร้างทางวิ่งรถไฟฟ้ายกระดับระยะทาง 8.8 กม. มีสถานียกระดับ 7 สถานี ได้แก่ 1. สถานีสัมมากร 2. สถานีน้อมเกล้า 3. สถานีราษฎร์พัฒนา 4. สถานีมีนพัฒนา 5. สถานีเคหะรามคำแหง 6. สถานีมีนบุรี 7. สถานีสุวินทวงศ์ ก่อสร้างแล้วเสร็จวันที่ 2 ต.ค. 65 ระยะเวลาในการก่อสร้าง 1,980 วัน ประมาณ 5 ปีกว่า ซึ่งการก่อสร้างดังกล่าวการวางแนวแบริเออร์จะยังไม่มีการเป็นหน้างานอย่างเป็นทางการเพราะต้องใช้ระยะเวลาทดสอบเข็มเจาะประมาณ 2 เดือน จากนั้นจะขยายการทดสอบไปจนสิ้นสุดโครงการ หลังจากนั้นจะทำการลงพื้นวางเสาเข็มรถไฟฟ้าอย่างเป็นทางการ
สำหรับโครงสร้างสถานีรถไฟฟ้าสายสีส้มทั้ง 7 สถานีที่อยู่ในช่วงยกระดับนั้นจะมีการออกแบบตัวสถานีในรูปแบบวอลกิ้งเฟรม คือเป็นลักษณะสถาปัตยกรรมสถานีมีการเคลื่อนไหวสื่อถึงการเคลื่อนที่ของรถไฟฟ้า ซึ่งจะเป็นลักษณะเฉพาะของสายสีส้มตะวันออกโดยเฉพาะ ทั้งนี้ ภายในสถานีจะมีจุดจำหน่ายตั๋วบริเวณชั้น 2 มีลิฟต์คนพิการพร้อม
ด้านนายปริญญา วีระพันธ์ ผู้แทนบริษัท ยูนิคฯ กล่าวว่า ในวันที่ 14 ก.ค.นี้ทางบริษัทจะกั้นแนวแบริเออร์ รื้อย้ายสาธารณูปโภค ต้นไม้บางส่วน และดำเนินการลงเสาเข็มทดสอบนั้นจะลงลึกในระดับ 60 เมตร โดยทดสอบเสาเข็ม 2 ลักษณะทั้งรูปแบบสามเหลี่ยมและรูปแบบวงกลม เพื่อดูน้ำหนักในการรับน้ำหนักของรถไฟฟ้า เมื่อได้ทดสอบน้ำหนักที่เหมาะสมแล้วจะลงพื้นที่ลงเสาเข็มจริงทั้ง 7 สถานี โดยจะมี 5 สถานี ได้แก่ 1. สถานีสัมมากร 2. สถานีน้อมเกล้า 3. สถานีราษฎร์พัฒนา 4. สถานีมีนพัฒนา 5. สถานีเคหะรามคำแหง อยู่บริเวณเกาะกลาง ส่วนอีก 2 สถานี คือ สถานีมีนบุรี และสถานีสุวินทวงศ์จะเบี่ยงขวามุ่งหน้าสุวินทวงศ์ ซึ่งอยู่ในแนวพื้นที่เวนคืนเพื่อหลบสะพานกรุงเทพมหานคร จำนวน 2 สะพาน