xs
xsm
sm
md
lg

การบินไทยเรียกค่าชดเชย “โรลส์-รอยซ์” เหตุซ่อมล่าช้า ทำไฟลต์เดลีป่วนและต้องหยุดบิน “นาโกยา”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


การบินไทยปรับเที่ยวบินวุ่น หลังโรลส์-รอยซ์ ซ่อมเครื่องยนต์ไม่ทัน เผยเครื่องบิน โบอิ้ง 787 Dreamliner จอดรออะไหล่อีก 3 ลำ จำเป็นต้องยกเลิกเที่ยวบินนาโกยา แถมยุบรวมบางเที่ยวบิน เจรจาเรียกค่าเสียหายจากโรลส์-รอยซ์ “อุษณีย์” ระบุเจรจาเร่งซ่อมให้เสร็จใน ก.ย.นี้

นางอุษณีย์ แสงสิงแก้ว รักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงกรณีปัญหาเครื่องบินโบอิ้ง 787 Dreamliner ที่ติดตั้งเครื่องยนต์โรลส์-รอยซ์ รุ่น Trent-1000 ต้องจอดรอการซ่อมว่า เนื่องจากการซ่อมไม่สามารถส่งมอบได้ตรงตามเวลาได้ ซึ่งเป็นปัญหากับทุกสายการบินทั่วโลกที่ใช้เครื่องบินรุ่นดังกล่าว โดยได้เจรจากับทางโรลส์-รอยซ์เป็นระยะๆ เพื่อส่งอะไหล่ทยอยเข้ามา โดยเครื่องบินรุ่นดังกล่าวมีจำนวน 6 ลำ ซ่อมเครื่องยนต์เสร็จแล้ว 3 ลำ เหลืออีก 3 ลำที่ยังรออะไหล่การซ่อมที่สมบูรณ์ โดยตามแผนจะซ่อมเสร็จภายในเดือน ก.ย.นี้ ซึ่งเท่ากับมีความล่าช้าจากเดิมประมาณ 3 เดือน

โดยที่ผ่านมาบริษัทได้ทำแผนรองรับ เช่น ได้ส่งต่อผู้โดยสารให้สายการบินอื่น ให้ไทยสมายล์ทำการบินแทนในบางเส้นทาง หมุนเวียนการใช้หรือสลับ Engine หมุนเปลี่ยน เครื่องบิน ทดแทน มีการยกเลิกชั่วคราวในบางเที่ยวบิน เช่น นาโกยา รวมถึงการหาเครื่องเช่าทดแทน

โดยค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นทั้งหมด ในส่วนของการเสียโอกาส ผลกระทบในการบริการผู้โดยสารทั้งหมด เที่ยวบินที่ล่าช้า การยุบรวมเที่ยวบิน รวมถึงการยกเลิกบางเส้นทางนั้นได้ยกเลิกการเจรจาแล้ว โดยโรลส์-รอยซ์จะเป็นผู้รับผิดชอบทั้งหมด ซึ่งอยู่ระหว่างการประเมินค่าเสียหาย ส่วนเครื่องยนต์ที่ซ่อมนั้นอยู่ในระยะประกันอยู่แล้ว

“เส้นทางที่กระทบมากคือ กรุงเทพฯ-เดลี เพราะเป็นช่วงผู้โดยสารค่อนข้างมาก เส้นทางสิงคโปร์ นอกจากนี้ ยังยกเลิกเส้นทางนาโกยาเป็นการชั่วคราว นอกจากนี้ ยังบินไปโรม, มิลาน กระทบทั้งหมด โดยทุกเช้าจะประชุมเพื่อหมุนเวียนการใช้เครื่องบิน” นางอุษณีย์กล่าว

รายงานข่าวแจ้งว่า สำหรับปัญหาเครื่องบินโบอิ้ง 787 Dreamliner ที่ติดตั้งเครื่องยนต์โรลส์-รอยซ์ รุ่น Trent-1000 มีสาเหตุจากการตรวจพบปัญหา Turbine Blade ในเครื่องยนต์ที่อาจส่งผลถึงความปลอดภัยในการปฏิบัติการบิน บริษัทฯ จึงมีความจำเป็นต้องถอดเครื่องยนต์ดังกล่าวส่งไปเข้าซ่อม ณ ศูนย์ซ่อมของบริษัทโรลส์-รอยซ์ที่สิงคโปร์ เพื่อทำการแก้ไขตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา แต่ด้วยจำนวนเครื่องยนต์ที่มีปัญหาทั่วโลกมีเป็นจำนวนมาก ทำให้บริษัทโรลส์-รอยซ์ ไม่สามารถซ่อมให้เสร็จได้ทันเวลา และเครื่องยนต์ที่เกิดปัญหามีจำนวนสะสมเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งบริษัทโรลส์-รอยซ์ก็ไม่สามารถจัดหาเครื่องยนต์อะไหล่ให้ทันความต้องการของสายการบินลูกค้า
นางอุษณีย์ แสงสิงห์แก้ว รักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)
กำลังโหลดความคิดเห็น