ชำแหละทีโออาร์ประมูลพื้นที่เชิงพาณิชย์ดอนเมือง ทอท.รวบพื้นที่ร้านค้าย่อยในอาคาร 1 เปิดสัมปทานรายเดียว 10 ปี แฉทีโออาร์ซ้ำรอยสัมปทานที่จอดรถสุดฉาว ล็อกเงื่อนไข วิธีให้คะแนนไร้เกณฑ์มาตรฐาน ส่อเอื้อบางกลุ่ม ขณะที่ 5 บิ๊กเนม “คิงเพาเวอร์-เดอะมอลล์-เซ็นทรัล-บางกอกกรีน-ไมเนอร์กรุ๊ป” แห่ซื้อซอง ด้าน ทอท.ขยายเวลายื่นซองออกไปกลางเดือน ก.ค. เลี่ยงครหา
แหล่งข่าวจากบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เปิดเผยว่า ขณะนี้ ทอท.อยู่ระหว่างเปิดประมูลการให้สิทธิประกอบกิจการ โครงการบริหารจัดการกิจกรรมเชิงพาณิชย์ภายในอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ อาคาร 1 ท่าอากาศยานดอนเมือง อายุสัมปทาน 10 ปี โดยได้เปิดขายเอกสารประมูลเมื่อวันที่ 29 พ.ค.-2 มิ.ย. 60 และกำหนดให้ผู้สนใจยื่นข้อเสนอในวันที่ 19 มิ.ย. 60 โดยจะประกาศรายชื่อผู้ที่มีคุณสมบัติครบถ้วนในวันเดียวกัน และกำหนดเปิดซองข้อเสนอค่าตอบแทนและประกาศผลคะแนนรวมสูงสุดในวันที่ 28 มิ.ย. 60 แต่ปรากฏว่าหลังจากมีข่าวกรณีการประมูลสัมปทานอาคารจอดรถสนามบินดอนเมือง ที่ส่อล็อกสเปกและกำหนดเวลาให้เตรียมเอกสารยื่นข้อเสนอน้อย ทำให้ ทอท.เลื่อนกำหนดยื่นข้อเสนอออกไปเป็นวันที่ 11 ก.ค.นี้
ทั้งนี้ ในการประมูลพื้นที่เชิงพาณิชย์ อาคาร 1 สนามบินดอนเมืองนั้น มีข้อสังเกตที่คล้ายกับการประมูลอาคารจอดรถสนามบินดอนเมือง เนื่องจากใช้รูปแบบทีโออาร์ในลักษณะเดียวกัน เช่น ใช้วิธีการพิจารณาให้คะแนน โดยรวมคะแนนข้อเสนอด้านเทคนิคและใบเสนอค่าตอบแทน ซึ่งมีเสียงวิจารณ์ว่าไม่มีมาตรฐานหรือเกณฑ์ในการให้คะแนนที่ชัดเจน ซึ่งหากเปรียบเทียบกับการประมูลอาคารจอดรถ ที่ผลออกมามี 2 บริษัทได้คะแนนเท่ากัน ทอท.จึงให้ทั้ง 2 รายเขียนราคาผลตอบแทนใหม่โดยต้องไม่ต่ำกว่าเดิม ซึ่งประเด็นนี้ผู้บริหาร ทอท.ระบุว่า จะทำให้ ทอท.ได้ประโยชน์เพิ่มขึ้น โดยในทีโออาร์ประมูลพื้นที่เชิงพาณิชย์ได้กำหนดเงื่อนไว้เหมือนกัน กรณีมีผลคะแนนรวมสูงสุดเท่ากันหลายราย ให้ผู้ยื่นเสนอค่าตอบแทนใหม่พร้อมกัน โดยต้องไม่ต่ำกว่าที่เสนอไว้ครั้งแรก
ประเด็นอยู่ที่ การให้คะแนนในสิ่งที่เอกชนเสนอ ซึ่งพบว่าบริษัทที่ ทอท.เลือกให้ชนะประมูลเสนอก่อสร้างอาคารจอดรถ 10 ชั้น โดยมีระบบ CCTV มีลิฟต์ตามมาตรฐานอาคาร ขณะที่บริษัทอันดับ 2 เสนอก่อสร้างอาคาร 8 ชั้น โดยมีลิฟต์ปกติ ลิฟต์สำหรับคนพิการ ลิฟต์สำหรับยกรถกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน ทั้งฝั่งเหนือและใต้ มีลานจอดเฮลิคอปเตอร์ มีกล้อง CCTV ทุกช่องจอด แต่ผลคะแนนออกมาเท่ากับรายอื่น จึงเป็นข้อสงสัยในเรื่องเกณฑ์การให้คะแนนที่ได้มาตรฐานหรือไม่
นอกจากนี้ เงื่อนไขคุณสมบัติผู้มีสิทธิเข้าร่วมค่อนข้างจะแคบและทำให้ยื่นได้น้อยรายหรือไม่ เช่น ผู้ยื่นต้องมีประสบการณ์ในการบริหารห้างสรรพสินค้า/ศูนย์การค้า หรือมีประสบการณ์ในการดำเนินธุรกิจประเภท Retail Business ร้านสินค้าและบริการ/อาหารและเครื่องดื่ม ในห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า หรือท่าอากาศยาน ที่ประกอบกิจการอยู่ ณ ประเทศไทย ขนาดพื้นที่รวมไม่น้อยกว่า 2,000 ตร.ม. อย่างต่อเนื่องมาไม่น้อยกว่า 5 ปี และยังคงเปิดให้บริการอยู่ในปัจจุบัน
รายงานข่าวแจ้งว่า มีผู้ซื้อซองประมูลบริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์ อาคาร 1 สนามบินดอนเมือง จำนวน 5 ราย ได้แก่ กลุ่มคิงเพาเวอร์, กลุ่มเดอะมอลล์, กลุ่มเซ็นทรัล รีเทล, กลุ่มบางกอกกรีน, ไมเนอร์กรุ๊ป
ทั้งนี้ ทอท.เปิดประมูลสัมปทานบริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์อาคาร 1 สนามบินดอนเมือง เพียงรายเดียว โดยมีอายุสัญญา 10 ปี นับแต่วันส่งมอบพื้นที่ถึงวันที่ 30 มิ.ย. 2570 โดยอนุญาตให้ดำเนินการพัฒนา ตลอดจนบริหารจัดการพื้นที่กิจกรรมเชิงพาณิชย์สำหรับร้านค้ารายย่อยหรือบริการต่างๆ ประเภท Retail, F&B, Service และ Bank โดย ทอท.ได้จัดสรรพื้นที่ภายในอาคาร 1 จำนวน 98 พื้นที่ รวม 2,510.37 ตร.ม. (Bus Gate, ชั้น 1-ชั้น 4) และอาคารเทียบเครื่องบินหมายเลข 2 (Pier 2) ซึ่งในแต่ละจุดสัญญาเดิมจะสิ้นสุดในวันที่ 30 มิ.ย. 2560
นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท.กล่าวว่า เหตุที่ขยายเวลายื่นซองเนื่องจากประมูลอาคารจอดรถก่อนหน้านี้ ทอท.ถูกร้องเรื่องให้เวลา 5 วัน ซึ่งได้ชี้แจงไปแล้วว่าใช้ระเบียบจัดหาผู้ประกอบการปี 55 ที่กำหนด 5 วัน ไม่ได้ใช้ระเบียบพัสดุ แต่เพื่อให้สบาย ประมูลพื้นที่เชิงพาณิชย์จึงให้เพิ่มเวลายื่นซองออกไป ส่วนการรวมพื้นที่ร้านค้าย่อยให้สัมปทานรายเดียวเข้ามาบริหารนั้นเพื่อความสะดวกในการกำกับดูแล ไม่ใช่ร้านเปิดๆ ปิดๆ และให้ได้ร้านค้าระดับแบรนด์ที่มีคุณภาพมากขึ้น ที่ผ่านมา ทอท.ลงไปควบคุมไม่ได้ ได้แจ้งร้านค้าเดิมที่จะหมดสัญญาแล้ว ไม่มีใครเป็นเจ้าพ่อ เป็นเจ้าของพื้นที่ได้ตลอดไป