“ส.อ.ท.” เผยดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือน พ.ค.อยู่ที่ 85.5 ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 จากเดือนก่อนอยู่ที่ 86.4 และยังเป็นค่าต่ำสุดในรอบ 7 เดือน จากความกังวลบาทแข็งและเอสเอ็มอียังคงประสบปัญหาเงินทุนหมุนเวียน ขณะที่ยอดขายรถในประเทศ พ.ค.เริ่มกระเตื้องทั้งปียังเป็นไปตามเป้า 8 แสนคัน ส่วนส่งออกวูบติดต่อเป็นเดือนที่ 11
นายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยถึงผลสำรวจความเชื่อมั่นของภาคอุตสาหกรรมไทย ประจำเดือนพฤษภาคม 2560 ว่าอยู่ที่ระดับ 85.5 ปรับลดลงจากระดับ 86.4 ในเดือนเมษายน ซึ่งเป็นค่าดัชนีฯติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 และอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 7 เดือนนับตั้งแต่ ต.ค. 59 ที่ค่าดัชนีฯ อยู่ที่ 86.5 โดยปัจจัยกระทบมาจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อการบริหารต้นทุนของผู้ประกอบการส่งออก ขณะที่ด้านการดำเนินกิจการ ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ยังมีปัญหาเงินทุนหมุนเวียน การขาดแคลนแรงงานและต้นทุนด้านราคาวัตถุดิบที่ปรับตัวสูงขึ้น
ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 99.6 ปรับตัวลดลงเล็กน้อยจากระดับ 100.0 ในเดือนเมษายน เนื่องจากผู้ประกอบการยังมีความกังวลเกี่ยวกับกำลังซื้อภายในประเทศ โดยเฉพาะในส่วนภูมิภาค และยังพบว่าผู้ประกอบการอุตสาหกรรมต้องการให้ภาครัฐออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลัง
สำหรับปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการประกอบกิจการในเดือนพฤษภาคม ผู้ประกอบการอุตสาหกรรม มีความกังวลเพิ่มขึ้นได้แก่ อัตราแลกเปลี่ยน ราคาน้ำม้น สถานการณ์การเมืองในประเทศ ส่วนปัจจัยที่กังวลลดลงได้แก่ สถาวะเศรษฐกิจโลก ขณะที่อัตราดอกเบี้ยเงินกู้อยู่ในระดับทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า
ข้อเสนอแนะที่มีต่อภาครัฐในเดือนพฤษภาคมคือ ให้ภาครัฐออกมาตรการเพื่อกระตุ้นกำลังซื้อภายในประเทศ พร้อมทั้งผ่อนปรนเงื่อนไขการเข้าถึงแหล่งเงินทุนสำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี รวมถึงเร่งพัฒนาผลิตภาพแรงงานไทย เพื่อรองรับนโยบายอุตสาหกรรม 4.0 และส่งเสริมการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เพื่อพัฒนาศักยภาพการผลิตและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน
นายสุรพงศ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ส.อ.ท.กล่าวว่า ยอดจำหน่ายรถยนต์ในประเทศเดือนพฤษภาคม 2560 ยังคงเพิ่มขึ้นเนื่องจากวันทำงานมากขึ้น โดยยอดขายอยู่ที่ 66,422 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีที่ผ่านมา คิดเป็น 0.6% จากภาวะเศรฐษกิจภายในประเทศที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น นักท่องเที่ยวจากต่างประเทศเข้ามาเพิ่มขึ้น การส่งออกสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้น รวมทั้งมีการแนะนำรถยนต์ SUV รุ่นใหม่และเพิ่มขึ้นจากเดือนเมษายน ร้อยละ 5 ส่วนภาพรวมการขายรถยนต์ในประเทศ 5 เดือนแรกปีนี้ (ม.ค.ถึง พ.ค.) มียอดสะสมรวม 340,179 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีที่ผ่านมาคิดเป็น 12.4% จึงคาดว่าตลอดปีนี้มีโอกาสที่ยอดขายรถยนต์ในประเทศจะเป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ว่าจะมียอดรวม 800,000 คัน
ส่วนการส่งออก พ.ค.นี้ส่งออกได้ 90,092 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันปีที่ผ่านมาคิดเป็น 9.5% ลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 11 โดยส่งออกลดลงในทุกตลาด คิดเป็นมูลค่าส่งออกรถยนต์ 48,014.47 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนหน้าคิดเป็น12.69% ตลาดตะวันออกกลางลดลงมากจากเคยมีสัดส่วน 25% ขณะนี้อาจไม่ถึง 8% ของตลาดส่งออกในภาพรวมแล้ว เนื่องจากการเข้มงวดในเรื่องการปล่อยไอเสียจากเครื่องยนต์ดีเซล จึงคาดว่าในอีกประมาณ 10 ปีข้างหน้าจะไม่มีการผลิตรถยนต์เครื่องยนต์ดีเซล ตามแนวโน้มของโลก อาจเปลี่ยนมาใช้รถไฮบริด ปลั๊กอินไฮบริด และรถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น บริษัทแม่รถยนต์แต่ละค่ายต่างวางแผนรับมือแล้ว ประเทศไทยก็เคยเปลี่ยนจากเครื่องยนต์เบนซินมาเป็นดีเซล