xs
xsm
sm
md
lg

“ฟันธงธุรกิจไทยครึ่งหลังปี 2560” ชี้โอกาสเติบโตของธุรกิจไทยยุค New Normal

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รวมพลคณาจารย์ทุกภาควิชาร่วมวิเคราะห์ทิศทางธุรกิจไทยยุค New Normal ในงานเสวนา “ฟันธงธุรกิจไทยครึ่งหลังปี 2560” เพื่อชี้ชัดเส้นทางการเติบโตอย่างยั่งยืน นำทีมโดย รศ.ดร.พสุ เดชะรินทร์ คณบดี, ผศ.ดร.วิเลิศ ภูริวัชร หัวหน้าภาควิชาการตลาด, รศ.ดร.อัษฎาพร ทรัพย์สมบูรณ์ หัวหน้าภาควิชาสถิติ, รศ.ดร.วรศักดิ์ ทุมมานนท์ จากภาควิชาการบัญชี และประธานคณะกรรมการกำหนดมาตรฐานการบัญชี สภาวิชาชีพบัญชีฯ และ รศ.ดร.พรอนงค์ บุษราตระกูล หัวหน้าภาควิชาการธนาคารและการเงิน และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการกำกับตลาดทุน ก.ล.ต. ดำเนินการเสวนาโดย อ.ดร.เอกก์ ภทรธนกุล และมนต์ชัย วงษ์กิตติไกรวัล ณ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 19 มิถุนายนที่ผ่านมา

รศ.ดร.พสุ เดชะรินทร์ คณบดี คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ธุรกิจครึ่งปีหลังไม่เพียงแต่มีการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นเท่านั้น แต่ยังมีรูปแบบการแข่งขันใหม่ๆ เกิดขึ้น มีผู้เล่นรายใหม่ๆ ที่เข้ามาสร้างธุรกิจใหม่ ทำให้ทุกธุรกิจต้องเผชิญกับความท้าทาย ฉะนั้นข้อมูลจึงกลายเป็นปัจจัยที่ใช้ในการแข่งขันมากขึ้น ควบคู่กับการสร้างนวัตกรรมให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค และปรับเปลี่ยนทิศทางการเติบโตผ่านการร่วมทุนและขยายสู่ตลาดเพื่อนบ้าน

“ผู้เล่นรายใหม่ๆ เหล่านี้มีทั้งพวกที่เป็นสตาร์ทอัพ หรือแม้กระทั่งองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ที่โดดขึ้นมารบบนสนามออนไลน์มากขึ้น หรือแม้แต่ผู้เล่นจากต่างประเทศที่จะบุกเข้ามาในไทย การเติบโตของธุรกิจไทยนับจากนี้ไปจึงต้องมองมิติใหม่ๆ ซึ่งต้องอาศัยคนรุ่นใหม่เพื่อหลีกหนีจากกรอบความคิดเดิมๆ โดยการเข้าไปลงทุนในกลุ่มสตาร์ทอัพ ซึ่งคนกลุ่มนี้มีไอเดีย แต่ไม่มีเงินทุนจะต่อยอดให้เกิดความสำเร็จได้ด้วยตัวเอง ขณะที่องค์กรใหญ่มีเงินทุน จึงสามารถสอดประสานและนำธุรกิจใหม่ๆ มาเสริมความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจหลักของตนเพื่อให้เกิดการเติบโตแบบยั่งยืน” รศ.ดร.พสุกล่าว และว่า

“นอกจากการเข้าไปลงทุนในกลุ่มธุรกิจสตาร์ทอัพแล้ว องค์กรธุรกิจต้องปรับทิศทางการเติบโตไปในประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้นอีกด้วย เนื่องจากช่วงปีที่ผ่านมาความต้องการภายในประเทศมีการเติบโตน้อยมาก”

ทั้งนี้ รศ.ดร.พสุยังกล่าวถึงแนวทางการบริหารจัดการในช่วงครึ่งหลังปี 2560 ว่า “เพื่อให้ภาคธุรกิจมีการเติบโตที่สอดคล้องกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ที่รัฐบาลกำลังให้การส่งเสริม การบริหารจัดการต้องเน้นใน 3 เรื่อง คือ องค์กร 4.0 ผู้นำ 4.0 และกลยุทธ์ 4.0 กล่าวคือ องค์กรจะมีความหลากหลายมากขึ้นจากบุคลากรหลายเจเนอเรชันมาทำงานร่วมกัน การพัฒนาบุคลากร สำหรับองค์กรยุคใหม่ต้องเปลี่ยนรูปแบบมาเป็นการส่งเสริมให้พนักงานมีทักษะในการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อให้มีความรู้ความสามารถก้าวตามทันความเปลี่ยนแปลงของโลก ขณะที่ผู้นำ 4.0 ต้องมีความถ่อมตนทางปัญญา เพื่อเปิดรับสิ่งใหม่ๆ ตลอดเวลา ส่วนกลยุทธ์ 4.0 คือการใช้มุมมองใหม่ๆ มาสร้างกลยุทธ์ต่างๆ ในการบริหารจัดการธุรกิจ พร้อมๆ กับการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อเป็นโอกาสการเติบโตอย่างยั่งยืนให้กับองค์กร”

ทางด้าน ผศ.ดร.วิเลิศ ภูริวัชร หัวหน้าภาควิชาการตลาด คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า “นักการตลาดต้องไม่ดูแค่เทรนด์แต่ต้องมีวิสัยทัศน์คาดการณ์ได้มากกว่าพฤติกรรมที่ผู้บริโภคจะแสดงออก สำหรับการตลาด 4.0 ที่เป็นเรื่องของการตลาดดิจิตอลในยุคนี้ต้องไม่ใช่แค่เครื่องมือด้านสื่อสารการตลาด แต่สามารถสร้างให้เป็น Core Business ได้ ผู้บริโภคในโลกยุคใหม่ไม่ได้เป็นแค่ Digital Consumers เท่านั้น แต่เป็น Digital Advocates และเป็น Digital Evangelists ที่จะมีการสร้างพลังของเน็ตเวิร์กในการแชร์ การสร้างแบรนด์ผ่านดิจิตอลต้องศึกษาการตลาดออนไลน์และออฟไลน์ไปพร้อมกันจนถึงยุคที่เป็น Lifeline เครื่องมือในการเข้าใจลูกค้าต้องมากกว่า Internet of Things (IoT) แต่เป็น Internet of Lives (IoL) กลยุทธ์ของแบรนด์ในปัจจุบันต้องมีความรอบจัดและรอบด้านเพื่อสรรค์สร้างการตลาดที่ตอบโจทย์ ไม่เพียงแต่เป็น Consumer Centric แต่เป็น Human Centric”

ขณะที่ รศ.ดร.อัษฎาพร ทรัพย์สมบูรณ์ หัวหน้าภาควิชาสถิติ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวเสริมว่า “โลกธุรกิจที่กำลังเผชิญกับความไม่แน่นอนทำให้ตำแหน่ง Data Scientist กำลังเป็นที่ต้องการของแทบทุกองค์กร โดยเฉพาะธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีข้อมูลมาก ต้องอาศัยคนมาช่วยในการดึงข้อมูล การวิเคราะห์ และสรุปผลออกมา เพื่อนำเสนอผู้บริหารในการประกอบพิจารณาการตัดสินใจลงทุน ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะถูกนำไปใช้ทั้งในด้านการบริหารจัดการ การตลาด หรือแม้กระทั่งการพัฒนาสินค้าตัวใหม่ขึ้นมา”

ด้าน รศ.ดร.พรอนงค์ บุษราตระกูล หัวหน้าภาควิชาการธนาคารและการเงิน คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการกำกับตลาดทุน ก.ล.ต. กล่าวว่า “การสร้างการเติบโตขององค์กร โดยการขยายการลงทุนไปยังประเทศต่างๆ ขององค์กรธุรกิจขนาดใหญ่นั้น มีแนวโน้มที่จะต้องสร้าง In-house Banking ขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่เหมือนเป็นธนาคารให้กับบริษัทในเครือที่อยู่ในต่างประเทศ และการถือเงินสกุลต่างกัน สามารถบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น”

ส่วน รศ.ดร.วรศักดิ์ ทุมมานนท์ จากภาควิชาการบัญชี คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และประธานคณะกรรมการกำหนดมาตรฐานการบัญชี สภาวิชาชีพบัญชีฯ เพิ่มเติมว่า “การเติบโตของภาคธุรกิจจำเป็นต้องใช้เม็ดเงินมหาศาลในการลงทุน ขณะที่เม็ดเงินในไทยอาจไม่เพียงพอ ต้องอาศัยเม็ดเงินจากต่างประเทศ ซึ่งการจะเข้าถึงได้จะต้องมีข้อมูลทางบัญชีที่มีมาตรฐานสากล ซึ่งคณะกรรมการมาตรฐานการบัญชีกำลังผลักดันให้มีการนำเอามาตรฐานสากล ที่เรียกว่า IFRS (International Financial Reporting Standard) ซึ่งเป็นมาตรฐานที่ใช้กันทั่วโลกมาปรับใช้ให้สอดคล้องกับความเป็นจริงของธุรกิจในบริบทสังคมไทยด้วย ซึ่งรูปแบบการทำธุรกิจของไทยในบางเรื่องมีความแตกต่างไปจากต่างประเทศ”


กำลังโหลดความคิดเห็น