คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยว่าศักยภาพของนักการตลาดที่ดีในยุคดิจิตอลต้องสร้างแบรนด์อย่างมีวิสัยทัศน์ มองถึงอนาคตและความยั่งยืน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในหัวข้อสัมมนา “วิชันแนรี แบรนดิ้ง ฟอร์ มาร์เกตติ้ง 4.0 (Visionary Branding for Marketing 4.0)” จัดขึ้นในงานโอเพนเฮาส์ 2017 ของหลักสูตรปริญญาโทด้านการตลาด จุฬาฯ โดยมี ผศ.ดร.วิเลิศ ภูริวัชร หัวหน้าภาควิชาการตลาด คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมด้วยกูรูการตลาดมือฉมัง สุนาถ ธนสารอักษร กรรมการผู้จัดการหุ้นส่วน บริษัท แรบบิทส์ เทลล์ จำกัด และ ชาตยา สุพรรณพงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ฟู้ดแพชชั่น จำกัด เป็นวิทยากร ณ โรงแรมปทุมวัน ปริ๊นเซส
ผศ.ดร.วิเลิศ ภูริวัชร หัวหน้าภาควิชาการตลาด จุฬาฯ เผยว่า “นักการตลาดที่ดีจำเป็นที่จะต้องมีมุมมองหรือวิสัยทัศน์ที่มองเห็นอนาคตของแบรนด์ ต้องมองไปให้ไกลกว่าผู้บริโภค สร้างแบรนด์ให้มีความยั่งยืน หัวใจของการทำธุรกิจคือยอดขาย ซึ่งเกิดจากลูกค้าที่มีความอยาก ความต้องการที่จะซื้อ ปัจจุบันผู้บริโภคมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปมาก สืบเนื่องจากเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคที่สามารถเชื่อมต่อกับโลกออนไลน์ได้ด้วยอินเทอร์เน็ตผ่านมือถือ ทำให้นักการตลาดต้องวางแผนการตลาดให้ตรง และเหมาะสมสอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคในยุคปัจจุบันที่เป็นยุคดิจิตอลที่ทุกอย่างจะสามารถเชื่อมต่อกันได้หมด เช่น การขายน้ำดื่ม ที่ไม่ได้บอกแค่เพียงให้ความสดชื่น หรือดื่มแล้วสุขภาพดี แต่ปัจจุบันบอกว่าดื่มแล้วทำให้ดูเด็กลง แล้วยังชวนให้ผู้บริโภคถ่ายภาพและไลก์แอนด์แชร์ในสื่อโซเชียลมีเดีย นี่คือตัวอย่างหนึ่งของการทำการตลาดในยุคปัจจุบัน”
ด้าน สุนาถ ธนสารอักษร กรรมการผู้จัดการหุ้นส่วน บริษัท แรบบิทส์ เทลล์ จำกัด เผยว่า “ปัจจุบันในยุคที่เปลี่ยนไป เทคโนโลยีสมัยนี้ทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างที่สื่อไปยังผู้บริโภคนั้นจะเห็นผลได้อย่างรวดเร็ว โดยสามารถวัดผลได้ทันที ผู้บริโภครู้สึกอย่างไร ชอบหรือไม่ชอบอย่างไร จะเห็นได้จากการกดไลก์ คอมเมนต์ หรือการแชร์ เป็นต้น แต่วิธีนี้เป็นการวัดผลแบบผิวเผิน ต้องวัดลงไปลึกๆ คือลูกค้าจะต้องจดจำแบรนด์นั้นๆ ได้หลังจากได้รับชมสื่อที่เรานำเสนอจึงจะเรียกได้ว่าประสบความสำเร็จ แบรนด์จะเกิดหรือไม่นั้นปัจจุบันไม่ได้ขึ้นอยู่ที่ผู้สร้างแบรนด์ หากแต่อำนาจถูกย้ายไปอยู่ที่ผู้บริโภค และสิ่งที่ผู้สร้างแบรนด์ต้องการนอกจากยอดขายแล้วยังต้องการความรักที่มีต่อแบรนด์ด้วย การเข้าใจและวิเคราะห์ผู้บริโภคอย่างถูกวิธีในการทำการตลาดจะช่วยให้การสร้างแบรนด์ประสบความสำเร็จยิ่งขึ้น”
และ ชาตยา สุพรรณพงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ฟู้ดแพชชั่น จำกัด เผยว่า “บาร์บีคิว พลาซ่าเคยประสบปัญหาทางธุรกิจเช่นกัน เราจึงลุกขึ้นมาปรับวิสัยทัศน์ใหม่ แค่ขายอาหารอย่างเดียวคงไม่พอ ปรับเป็นธุรกิจคนที่ส่งมอบความสุขผ่านมื้ออาหาร โดยเริ่มปรับเปลี่ยนความเชื่อจากคนภายในองค์กร ผ่านทางสื่อออนไลน์ ส่งไปยังลูกค้า ด้วยคอนเซ็ปต์ที่ชัดเจน และเหนือกว่าคู่แข่ง พร้อมกับหาวิธีที่ทำให้ลูกค้า รู้สึกว่าได้มากกว่ามารับประทานอาหาร นั่นคือทำให้ลูกค้ามีความสุข บาร์บีคิว พลาซ่า ทุกวันนี้จึงไปไกลเกินกว่ายอดขาย เพราะเราไปถึงการสร้างความรักในแบรนด์ ดังนั้นธุรกิจสมัยนี้ต้องปรับตัวและเพิ่มความรู้อยู่เสมอจึงจะอยู่รอดในยุคที่มีการเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว”