xs
xsm
sm
md
lg

SMEs มีเฮ! “อุตตม” จ่อชง สนช.ดันคลอด พ.ร.บ.กองทุนฯ ดูแลกันแบบยาวๆ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“อุตตม” ยกระดับตั้ง พ.ร.บ.กองทุนฯ อุ้มเอสเอ็มอีระยะยาว หวังให้มีเม็ดเงินช่วยเหลือถาวรชัดเจนแทนที่จะต้องรอพึ่งงบประมาณจากส่วนกลางที่ไม่ชัดเจนและแน่นอน หลังพบยื่นขอสนับสนุนผ่าน 4 กองทุน 3.8 หมื่นล้านบาท 2 เดือนเอสเอ็มอีแห่ขอกู้ ยอดทะลุ 2.2 หมื่นล้าน

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้ตั้งคณะอนุกรรมการจัดทำร่าง พ.ร.บ.กองทุนพัฒนาเอสเอ็มอี ตามแนวประชารัฐ โดยเชิญผู้แทนจากหน่วยงานต่างๆ มาร่วมร่าง พ.ร.บ.ฯ เช่น กรมบัญชีกลาง คณะกรรมการกฤษฎีกา กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) เป็นต้น เพื่อที่จะทำให้การช่วยเหลือเอสเอ็มอีมีความชัดเจนในระยะยาว โดยเฉพาะการมีวงเงินสนับสนุนที่แน่นอนในแต่ละปีแทนที่จะเป็นลักษณะการของบประมาณกลางมาสนับสนุนเช่นปัจจุบัน โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในสิ้นปีนี้ และเข้าสู่ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ภายในต้นปี 2561

“รายละเอียดของร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้คงจะต้องมาดูว่าจะมีเงินสนับสนุนแต่ละปีเท่าใด โดยจะดึงเงินเข้ามาอยู่ในกองทุนภายใต้ พ.ร.บ.ดังกล่าว เช่น กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) แต่จะไม่ไปยุ่งเงินของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม (สสว.) และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) เนื่องจากมี พ.ร.บ.เป็นของตนเองรองรับอยู่แล้ว แต่จะปรับให้ทำงานสอดคล้องกันโดยเฉพาะ สสว.ยังเป็นหน่วยงานหลักในการกำหนดนโยบายส่งเสริมเอสเอ็มอีในภาพรวม ส่วนกองทุนฯ จะดูแลในภาคปฏิบัติและสนับสนุนด้านการเงิน” นายอุตตมกล่าว

ทั้งนี้ คาดว่ากองทุนภายใต้ พ.ร.บ.ใหม่จะสูงกว่าเงินกองทุนเอสเอ็มอี 20,000 ล้านบาทที่ดำเนินการอยู่ เนื่องจากวัดจากความต้องการผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ยื่นขอคำผ่าน 4 กองทุน ได้แก่ กองทุนเอสเอ็มอี วงเงิน 20,000 ล้านบาท โครงการสินเชื่อทรานส์ฟอร์เมชันโลนของเอสเอ็มอีแบงก์ วงเงิน 15,000 ล้านบาท กองทุนฟื้นฟูของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) วงเงิน 2,000 ล้านบาทและกองทุนพลิกฟื้นวงเงินรวม 1,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นวงเงินรวม 38,000 ล้านบาท ล่าสุดเปิดยื่นคำขอมา 2 เดือน ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้ามาขอความช่วยเหลือแล้ว 8,699 ราย วงเงิน 22,510 ล้านบาท อนุมัติแล้ว 1,605 ราย วงเงิน 3,825 ล้านบาท คาดว่าผู้ประกอบการจะยื่นคำขอทั้งหมดภายในไตรมาส 4 ของปีนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น