“4 กูรู ภาครัฐ-เอกชน-นักวิชาการ” ชี้อีคอมเมิร์ซโตเร็วส่งสัญญาณบวกค้าขายออนไลน์ หนุนองค์กรรัฐกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน พร้อมยกโมเดล “ด่านเกวียน” ฟื้นคืนชีพ หลัง “ดีป้า” ส่งเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิตอลเข้าไปพัฒนาระบบขาย เล็งดึงนโยบายประชารัฐร่วมขับเคลื่อนต่อยอดจนครบ 77 จังหวัด
ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) จัดเสวนาหัวข้อ “ผ่าเทรนด์ผู้ประกอบการไทยโตไวด้วยดิจิทัล 4.0” ภายหลังแถลงผลความสำเร็จโครงการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิตอล
นายภาวุธ พงศ์วิทยภาณุ กรรมการผู้จัดการบริษัทตลาดดอทคอม กล่าวว่า ขณะนี้อีคอมเมิร์ซถือว่าเติบโตมาก มีคนเข้าใช้จำนวนมาก มีกลุ่มเข้ามาใหม่ทั้งเด็กรุ่นใหม่ ผู้สูงอายุ เข้าสู่ระบบออนไลน์จำนวนมากเช่นกัน ถือเป็นสัญญาณที่ดี ซึ่งจะส่งผลดีต่อภาพรวมเศรษฐกิจไทย ขณะเดียวกัน เรื่องของ e Market Place เป็นเกมของผู้เล่นต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ เช่น จีน เกาหลี เป็นต้น แต่ไทยยังเป็นผู้ยืนอยู่ข้างสนาม ซึ่งกำลังปรับโมเดล โดยมีการร่วมมือกับทางดีป้าช่วยเหลือผู้ประกอบการท้องถิ่น ถ้าไม่มีต่างประเทศเข้ามาอีคอมเมิร์ซไทยจะไม่ตื่นตัวขนาดนี้ นอกจากนี้ อยากจะแนะนำผู้ประกอบการเพื่อให้เพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน โดยต้องอยู่ในทุกช่องทางทั้งเว็บไซต์ โซเชียลมีเดีย การค้าขายผ่านอีคอมเมิร์ซ เชื่อว่าจะไปสู่ตลาดต่างประเทศได้ โดยผู้ผลิตต้องจับกระแสนี้เข้าไปใน e Market Place ในทุกที่ จะสามารถบริหารสินค้าในหลายช่องทาง พร้อมทั้งมีการทำโฆษณา และการตลาดด้วย
ด้านนายพงษ์ศักดิ์ ตันวิสุทธิ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ บมจ.แอนวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ผู้ประกอบการส่วนใหญ่จะขายสินค้าผ่านระบบอินเทอร์เน็ต ซึ่งมีข้อจำกัด ใช้เงินสูง แต่ปัจจุบันมีโทรศัพท์มือถืออยู่กับทุกคน ซึ่งคนไทยมีทั้งหมด 68 ล้านคน มีการใช้โทรศัพท์ 90 ล้านเลขหมาย ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนที่มาก ดังนั้น AIS มองเห็นโอกาส และรัฐบาลก็สนับสนุน ทาง AIS จึงเปิดตลาด e Market Place เพื่อเกษตรกรขึ้นมาให้ผู้ประกอบการรายย่อยนำสินค้ามาขาย และมีการจ่ายเงินผ่านระบบ ซึ่งเป็นระบบที่เชื่อถือได้ ดังนั้นเป็นโอกาสที่ดีในอนาคตหากผู้ประกอบการเรียนรู้และอยู่ในกระแสได้
นายโสภณ ผลประพฤติ หัวหน้าสาขาวิชาเทคโนโลยีมัลติมีเดีย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน กล่าวว่า โครงการของดีป้าทำให้สินค้าชุมชนโดยเฉพาะจังหวัดนครราชสีมา เช่น ที่ด่านเกวียน ซึ่งกำลังจะล้มสามารถฟื้นกลับคืนมาได้ ซึ่งนอกจากสินค้าชุมชนก็ยังเชื่อมโยงไปเรื่องการท่องเที่ยว เกษตรแปรรูป ทำให้การค้าขายไม่มีเขตจำกัด และยิ่งมีไทยแลนด์ 4.0 ทำให้เกิดภาพฝันในอนาคตที่เป็นจริง
นายสมศักดิ์ สุคำภา ผู้เชี่ยวชาญ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล กล่าวว่า โจทย์ที่จะเดินสู่ไทยแลนด์ 4.0 ไม่ได้มองแค่การค้าขาย แต่จะต่อยอดไปถึงการท่องเที่ยววิถีชีวิต ส่งเสริมชุมชน โดยที่ผ่านมาได้ให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการ ทั้งเรื่องการทำบัญชี วิธีเพิ่มมูลค่าของสินค้า โดยให้เล่าเรื่องราวที่มาของสินค้า สร้างวิทยากรอาสา เพื่อนำความรู้ของดีป้าไปสอนให้กับชุมชน โดยมีรายละเอียดทั้งเรื่องของการส่งสินค้า คัดกรองสินค้า โดยมี e Market Place สนับสนุน และคิดว่าจะมีการยกระดับสินค้าชุมชนไปถึงต่างประเทศเชื่อมโยงไปทั่วอาเซียน ทั้งนี้ จากที่ดำเนิน “โครงการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล” นำร่องไปแล้ว 10 จังหวัด ตั้งโจทย์ไว้ว่าจะดำเนินการให้ครบทั้ง 77 จังหวัด โดยใช้โมเดลประชารัฐเป็นตัวขับเคลื่อน
กำลังโหลดความคิดเห็น