คมนาคมถกสภาหอฯ, ผู้ประกอบการเรือ ปรับเงื่อนไขประมูลท่าเรือ B1, B3 และ B4 ของแหลมฉบัง รวมเหลือ 2 สัญญา พร้อมเร่งประมูลให้เสร็จในปี 62 หวั่นมีปัญหารอยต่อ ขณะที่ภาคเอกชนร้องคมนาคม เผย กทท.โขกค่าภาระท่าเรือชายฝั่งแพง
นายพิชิต อัตราทิตย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังหารือร่วมกับสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และผู้แทนสมาคมเจ้าของเรือไทย และกรมเจ้าท่า (จท.) ว่า ได้หาแนวทางการแก้ไขปัญหาพาณิชยนาวี และการขนส่งสินค้าทางเรือร่วมกันในหลายประเด็น โดยในเรื่องการบริหารท่าเทียบเรือ B1, B3 และ B4 ที่ท่าเรือแหลมฉบัง จะครบอายุสัญญาสัมปทานในปี 2563 ซึ่งที่ประชุมได้เห็นร่วมกันว่า การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ควรดำเนินการเปิดประมูลหาผู้ดำเนินการรายใหม่ให้แล้วเสร็จก่อนจะครบอายุสัญญา 1 ปี หรือภายในปี 2562 เพื่อไม่ให้มีปัญหาติดขัดในการให้บริการ
ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคมได้เร่งรัดให้ กทท.จัดทำแผนและตารางการดำเนินงานนำเสนอกระทรวงภายในสัปดาห์หน้า สำหรับรูปแบบการเปิดประมูล เบื้องต้นจะมีการปรับการบริหารท่าเรือ 3 ท่าจากเดิม 1 ท่าต่อ 1 สัมปทาน เป็น 3 ท่าต่อ 2 สัมปทาน เนื่องจากความยาวหน้าท่า 300 เมตร/ท่านั้นสามารถจอดเรือได้ 2 ลำ แต่ปัจจุบันเรือมีขนาดใหญ่ขึ้นทำให้เทียบท่าได้ยาก การรวมสัมปทาน 1 ราย บริหาร 2 ท่าจะทำให้เรือขนาดใหญ่จอดเทียบท่าได้
สำหรับท่าเทียบเรือ B1 ดำเนินการโดย บริษัท แอลซีบี คอนเทนเนอร์ เทอร์มินัล 1 จำกัด หมดสัญญาเดือน มี.ค. 2563 / ท่าเทียบเรือ B2 ดำเนินการโดย บริษัท เอเวอร์กรีน คอนเทนเนอร์ เทอร์มินัล (ประเทศไทย) จำกัด หมดสัญญาเดือน ธ.ค. 2563 /และท่าเทียบเรือ B4 ดำเนินงานโดย บริษัท ที ไอ พี เอส จำกัด หมดสัญญาเดือน ธ.ค. 2563
นอกจากนี้ ภาคเอกชนยังเสนอให้ปรับลดค่าภาระของท่าเรือชายฝั่งที่ กทท.จะเรียกเก็บที่ 1,555 บาท/ตู้ โดยเห็นว่าสูงเกินไป รวมถึงขอให้รัฐพิจารณาเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับเรือชายฝั่งเพิ่มเติม เนื่องจากปัจจุบันมีปริมาณขนส่งชายฝั่งประมาณ 4 แสนทีอียู/ปี ขณะที่ท่าเรือชายฝั่งที่อยู่ระหว่างก่อสร้างจะเปิดได้ในเดือน พ.ย. 2560 มีขีดความสามารถรองรับได้ที่ 3 แสนทีอียู/ปีเท่านั้น ซึ่งไม่เพียงพอต่อความต้องการ และคาดว่าในอนาคตจะมีปริมาณเพิ่มขึ้นเป็น 6 แสนทีอียู/ปี จึงมีความกังวลทั้งเรื่องความไม่เพียงพอและค่าบริการที่สูง และจะส่งผลกระทบต่อนโยบายการขนส่งสินค้าที่ต้องการเปลี่ยนจากการขนส่งสินค้าโดยรถบรรทุกมาเป็นทางเรือ ซึ่งได้มอบหมายให้กรมเจ้าท่าและสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) พิจารณาแผนแก้ไขเพื่อส่งเสริมการขนส่งสินค้าบริเวณท่าเทียบเรือชายฝั่งทะเล
อย่างไรก็ตาม กทท.ได้ระบุเพิ่มเติมหากไม่เพียงพอในการรองรับก็จะมีท่าเทียบเรือ A0 ซึ่งเป็นท่าเทียบเรืออเนกประสงค์ก็สามารถรองรับได้ โดยจะมีหน้าท่าเทียบเรือที่ยาว ประมาณ 400 เมตร คาดว่าจะไม่กระทบต่อการให้บริการอย่างแน่นอน