ผู้จัดการรายวัน 360 - “โออิชิ” ชะลอซื้อไลเซนส์ร้านอาหารญี่ปุ่น หันมาจัดทัพปรับภาพลักษณ์และพัฒนาแบรนด์เก่า เสริมความแกร่งรับการแข่งขันรุนแรงและก้าวสู่ยุคเศรษฐกิจประเทศไทย 4.0 เปิดตัวโออิชิ อีทเทอเรียม บุฟเฟต์แนวใหม่ แย้มอาจจะปรับโออิชิบุฟเฟต์เดิมเป็นอีทเทอเรียมทั้งหมดหากมีความเหมาะสม
นายไพศาล อ่าวสถาพร รองกรรมการผู้จัดการ สายงานธุรกิจอาหาร บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ตลาดร้านอาหารญี่ปุ่นที่มีมูลค่ากว่า 20,000 ล้านบาท เติบโต 5-8% ในปี 2560 รวมทั้งตลาดอาหารทั่วไปจะยังคงมีการแข่งขันที่สูงและรุนแรงมากยิ่งขึ้น ซึ่งโออิชิเองในฐานะที่เป็นผู้นำตลาดร้านอาหารญี่ปุ่นจึงต้องปรับกลยุทธ์เพื่อรักษาความเป็นผู้นำและรับมือกับการแข่งขันนั้น
ขณะที่ปัจจัยภายนอกก็ยังมีผลต่อกำลังซื้อและความมั่นใจในภาวะเศรษฐกิจของผู้บริโภคด้วย เช่น อเมริกาที่เป็นคู่ค้ารายใหญ่ของไทยก็จะมีการเปลี่ยนผู้นำหรือประธานาธิบดีคนใหม่แล้ว ส่วนจีนก็อยู่ในภาวะฟองสบู่เศรษฐกิจไม่ค่อยดี ด้านยุโรปก็มีหลายประเทศที่ต้องการจะออกจากอียู ส่งผลต่อความผันผวนด้านเศรษฐกิจโลกพอสมควร มีแต่เอเชียเท่านั้นที่ยังอยู่ในภาวะที่ดีที่สุด มีการเติบโต ซึ่งไทยเองก็อยู่ในโซนนี้ จึงอาจจะเป็นอีกเหตุผลที่ทำให้ธุรกิจร้านอาหารที่เป็นเชนต่างประเทศมีโอกาสที่จะขยายเข้ามาทำตลาดในไทยมากขึ้น
ทั้งนี้ แผนลงทุนในปี 2560 (ตุลาคม 59-กันยายน 60) จะมีการเปิดตัวแบรนด์ใหม่เพียงแบรนด์เดียว คือ โออิชิ อีทเทอเรียม ซึ่งเป็นแบรนด์ที่ปรับมาจากโออิชิบุฟเฟต์ แต่จะไม่มีการเปิดตัวแบรนด์ใหม่เพิ่มอีก รวมทั้งแผนที่จะซื้อไลเซนส์ร้านอาหารญี่ปุ่นจากต่างประเทศเข้ามาเปิดบริการก็จะชะลอไปก่อน
โดยจะเป็นปีแห่งการปรับโฉมและภาพลักษณ์บริการใหม่ทั้งหมดของร้านอาหารในเครือทุกแบรนด์ เพื่อสร้างความแข็งแกร่ง สร้างภาพลักษณ์ที่ดีแตกต่างจากคู่แข่ง ซึ่งทั้งหมดคาดว่าจะปรับแล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน 2560 หลังจากที่ได้เริ่มปรับแบรนด์ชาบูชิไปแล้วเมื่อกลางปีนี้ (2559) ซึ่งปี 2560 จะลงทุนประมาณ 241 ล้านบาท เปิดใหม่ 15 สาขา แบ่งเป็นแบรนด์ ชาบูชิ 14 สาขา และโออิชิบุฟเฟต์ 1 สาขา และรีโนเวตสาขาเดิมอีก 5 สาขา ส่วนงบการตลาด 300 ล้านบาท
ล่าสุดคือ แบรนด์โออิชิอีทเทอเรียม เป็นบุฟเฟต์แนวใหม่ที่เน้นการใช้เทคโนโลยีและไอทีดิจิตอล เพื่อให้สอดรับกับเศรษฐกิจประเทศไทย 4.0 และมีอาหารที่มีคุณภาพมากขึ้น กำหนดราคา 659 บาทต่อคน นาน 1 ชั่วโมง 45 นาที เป็นแบรนด์และราคาที่อยู่กึ่งกลางระหว่าง โออิชิแกรนด์ ที่มีราคา 895 บาทต่อคน เวลา 2 ชั่วโมงครึ่ง และโออิชิบุฟเฟต์ ราคา 539 บาทต่อคน จับกลุ่มเป้าหมายครอบครัวเป็นหลัก และวัยเริ่มทำงาน โดยพื้นที่เฉลี่ย 500 ตารางเมตรขึ้นไป
สาขาแรกได้ปรับจากโออิชิบุฟเฟต์ที่เซ็นทรัลพระรามเก้า เป็นโออิชิอีทเทอเรียม พื้นที่ 600 ตารางเมตร ความจุ 260 ที่นั่ง ลงทุน 22 ล้านบาท เปิดบริการวันที่ 1 ธันวาคมที่ผ่านมา และมีคนเข้ารับประทานอาหาร 600-800 คนต่อวันธรรมดา และ 1,000 คนในวันเสาร์-อาทิตย์
นายไพศาลกล่าวว่า ภายในปี 2560 จะมีการเปิดโออิชิอีทเทอเรียมอีก 2 สาขา โดยเป็นการปรับโออิชิบุฟเฟต์ที่ซีคอนสแควร์ใหม่ และอีก 1 สาขาจะเป็นการเปิดใหม่ ลงทุนเฉลี่ย 20-25 ล้านบาทต่อสาขา อย่างไรก็ตาม ในอนาคตอาจจะเป็นไปได้ที่จะมีการปรับโออิชิบุฟเฟต์ทั้งหมดเป็นโออิชิอีทเทอเรียม แต่ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับการตอบรับของผู้บริโภคด้วย
ทั้งนี้ ผลประกอบการของโออิชิในกลุ่มอาหาร ช่วง 9 เดือนแรกปี 2559 ( ม.ค.-ก.ย. 59) พบว่ามีรายได้รวม 4,906 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันปีที่แล้วที่มี 4,926 ล้านบาท หรือเติบโต 0.4% เพราะภาวะเศรษฐกิจไม่ค่อยดี ผู้บริโภคลดการจับจ่าย แต่มีกำไรประมาณ 88 ล้านบาท มากกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วที่ทำได้เพียง 31 ล้านบาท หรือเพิ่ม 183% จากการทำตลาด การควบคุมต้นทุน และการปรับภาพลักษณ์
ปัจจุบันบริษัทฯ มีแบรนด์ร้านอาหารในเครือ คือ ชาบูชิ กว่า 126 สาขา สัดส่วนรายได้ 64%, โออิชิบุฟเฟต์ 19 สาขา สัดส่วนรายได้ 19%, โออิชิราเมน 50 กว่าสาขา สัดส่วนรายได้ 10% ที่เหลือเช่น นิกุยะ คาคาชิ 7%
สำหรับมูลค่าตลาดร้านอาหารในไทยปี 2558 จากศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่ามีมูลค่าประมาณ 385,000 ล้านบาท เติบโต 5-6% แยกเป็นร้านอาหารที่เป็นเชน มีมูลค่ารวม 110,000 ล้านบาท เติบโต 2.9-5.9% และร้านอาหารที่ไม่ได้เป็นเชน มูลค่า 275,000 ล้านบาท เติบโต 6.9-8.9%