ผู้จัดการรายวัน 360 - “โออิชิ” ปรับใหญ่กลุ่มอาหารรอบ 16 ปี เน้นคุณภาพส่วนผสมอาหาร ประเดิม “ชาบูชิ” ก่อน ตามด้วยแบรนด์อื่น เพราะเป็นรายได้หลัก เปิดตัวแคมเปญ “ชาบูชิ และอีกมากมายล้นสายพาน” ปีนี้ลงทุน 1 พันล้านบาท แต่ยอมรับเปิดไม่ครบ 30 สาขาตามแผน เพราะศูนย์การค้าหลายแห่งเลื่อนเปิด
นายไพศาล อ่าวสถาพร รองกรรมการผู้จัดการ สายงานธุรกิจอาหาร บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า “โออิชิ กรุ๊ป” ได้ทำการปรับทัพธุรกิจอาหารทุกแบรนด์รวม 5 แบรนด์ครั้งใหญ่ในรอบ 16 ปี ทั้งในแง่ของคุณภาพอาหาร ส่วนผสมอาหาร การทำตลาด เพื่อให้สอดคล้องกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่ต้องการอาหารเพื่อสุขภาพมากขึ้นและตามเทรนด์ของตลาดที่มีการเปลี่ยนแปลงแบ่งย่อยเป็นแฟรกเมนเตชันมากขึ้น เช่น ร้านซูชิ ร้านราเมง ร้านปิ้งย่าง เป็นต้น จึงทำให้ต้องปรับตัวตามเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน โดยเริ่มปรับใหญ่ที่แบรนด์ “ชาบูชิ” จากทั้งหมด 5 แบรนด์ คือ “ชาบูชิ”, “โออิชิ”, “นิกุยะ”, “คาคาชิ” และ “ราเมน” รวมทั้งหมด 244 สาขา
สำหรับช่วงไตรมาสแรกปี 2559 กลุ่มอาหารของ “โออิชิ กรุ๊ป” มีรายได้ 1,516 ล้านบาท แบ่งเป็นร้านอาหาร 1,425 ล้านบาท สัดส่วน 94% และอาหารพร้อมรับประทาน 91 ล้านบาท สัดส่วน 6% โดย “ชาบูชิ” เป็นรายได้หลักกว่า 66% รายได้ 941 ล้านบาท “โออิชิ บุฟเฟ่ต์” รายได้ 255 ล้านบาท สัดส่วน 17% และ “โออิชิ ราเมน” รายได้ 148 ล้านบาท สัดส่วน 10% โดย “ชาบูชิ” มี 120 สาขา คิดเป็นสัดส่วนพื้นที่ในกรุงเทพฯ 57% ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 13% ภาคตะวันออก 11% ภาคใต้ 10% และภาคเหนือ 9%
ขณะที่ในต่างประเทศนอกจากพม่า 3 สาขาที่เป็นการร่วมทุนแล้ว กำลังเตรียมขยายไปยังประเทศอื่นอีก เช่น ลาว และกัมพูชา ที่ยังอยู่ระหว่างการเจรจาแต่ยังไม่สรุปว่าจะเป็นการร่วมทุน หรือการขายแฟรนไชส์ ส่วนแบรนด์อาหารอื่นที่จะขยายยังอยู่ระหว่างการเจรจากับทางต่างประเทศที่จะซื้อแฟรนไชส์แต่ยังไม่มีการสรุป
ล่าสุดเปิดตัวแคมเปญ “Shabushi and So Much More ชาบู ซูชิ และอีกมากมายล้นสายพาน” ทำการปรับส่วนผสมของเมนูอาหารโดยคำนึงสุขภาพมากขึ้น และปรับเปลี่ยนเมนูเพิ่มใหม่ เช่น เนื้อฮารามิ, ปลาดอรี, เอบิเทนแซลมอนมากิ, ซูชิกุ้งชุบแป้งทอด เป็นต้น โดยปรับราคาเพิ่มเป็น 399 บาทจากเดิม 359 บาทต่อคน คาดหวังว่าแคมเปญนี้จะเพิ่มยอดขาย 15% ส่วนแบรนด์อื่นก็จะมีทั้งการปรับเปลี่ยนรูปแบบด้วย เช่น นิกุยะปิ้งย่าง เดิมมีแต่บุฟเฟต์ก็จะเพิ่มแบบเป็นชุดด้วย จึงทำให้มีราคาที่ต่ำลงและสูงขึ้น และจะเปิดตัวในเร็วๆ นี้ ส่วนแบรนด์อื่นยังอยู่ระหว่างการทยอยปรับโฉมใหม่
สำหรับมูลค่าตลาดรวมร้านอาหารในประเทศไทยมีประมาณ 3.85 แสนล้านบาท เติบโต 6% แบ่งเป็นร้านอาหารทั่วไป 2.67-2.75 แสนล้านบาท สัดส่วน 70% และเชนร้านอาหาร 1.08-1.1 แสนล้านบาท สัดส่วน 30% ขณะที่ร้านอาหารญี่ปุ่นในไทยมีมูลค่ากว่า 2.35 หมื่นล้านบาท เติบโต 10-15% ต่อปี คาดว่าปีนี้จะเติบโต 15% โดย 80% เป็นอาหารญี่ปุ่นที่อยู่ในศูนย์การค้า ขณะที่ร้านอาหารญี่ปุ่นในไทยมีประมาณ 2,346 ร้านค้า เป็นรองจากร้านอาหารไทย อันดับที่สามคือ ร้านอาหารอิตาลี มี 2,027 ร้านค้า ขณะที่ค่าใช้จ่ายทางด้านอาหารของคนไทยต่อปีต่อคน เมื่อปี 2557 อยู่ที่ประมาณ 22,034 บาทต่อคน และเพิ่มเป็น 22,960 บาทต่อคนในปี 2558 เติบโต 4.2%
ทั้งนี้ เซ็กเมนต์ร้านอาหารญี่ปุ่นแต่ละอย่างในตลาดรวมประกอบด้วย 1.แบบตามสั่ง มูลค่ากว่า 1.1 หมื่นล้านบาท 2.ชาบู มูลค่า 4.3 พันล้านบาท (ไม่นับรวม “เอ็มเค สุกี้” มูลค่า 1 หมื่นล้านบาท) โดย “ชาบูชิ” มีแชร์ตลาด 87% 3.บุฟเฟ่ต์ มูลค่า 1.9 พันล้านบาท “โออิชิ” มีแชร์ตลาด 73% 4.ยากินิขุปิ้งย่าง มูลค่า 1 พันล้านบาท (ไม่นับรวม “บาร์บีคิวพลาซ่า” มูลค่า 2.7 พันล้านบาท) “นิคุยะ” มีแชร์ตลาด 23% 5.ราเมง มูลค่า 2.5 พันล้านบาท “โออิชิ ราเมง” แชร์ตลาด 26% 7.ซูชิ มูลค่า 800 ล้านบาท
นายไพศาลกล่าวด้วยว่า ปีนี้ตั้งงบลงทุนด้านขยายสาขา 30 แห่ง ด้วยงบประมาณ 600 ล้านบาท พร้อมงบฯ ตลาด 400 ล้านบาท ล่าสุดเปิดไปแล้ว 13 สาขา แต่คาดว่าคงเปิดไม่ครบเพราะศูนย์การค้าหลายแห่งมีการเลื่อนกำหนดเปิด จึงคาดว่าคงเปิดได้ไม่เกิน 20 สาขาใหม่ คาดรายได้ปีนี้ 7 พันล้านบาท จากเดิมที่ตั้งเป้าหมายรายได้รวมไว้ที่ 7.5 พันล้านบาท แต่เพราะเปิดสาขาได้ไม่ครบตามแผนจึงต้องปรับเป้ารายได้ลดลง โดยตั้งเป้าหมายปี 2563 มีรายได้จากกลุ่มอาหาร 1 หมื่นล้านบาท โดยแต่ละปีจะต้องเติบโตประมาณ 1 พันล้านบาท