xs
xsm
sm
md
lg

NGV รถเมล์แห่งชาติ “ทุจริต-โคตรโกง” บทสรุป “ข้อตกลงคุณธรรมล้มเหลว”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กรณีกรมศุลกากรไม่ให้ บริษัท เบสท์ริน กรุ๊ป จำกัด เป็นผู้ชนะประมูลโครงการจัดซื้อรถโดยสารใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง (NGV) จำนวน 489 คัน นำรถโดยสารจำนวน 99 คัน ซึ่งเป็นรถโดยสารล็อตแรกออกจากท่าเรือฯ กลายเป็นประเด็นใหญ่ เพราะรถเมล์ NGV 489 คันนี้รัฐบาล คสช.หมายมั่นว่าจะเอารถใหม่เอี่ยมมาวิ่งให้บริการประชาชนเป็นของขวัญปีใหม่ 2560 นี้

“แล้วเหตุใดจึงมาติดหล่ม ปมเลี่ยงภาษีนำเข้า แสดงเอกสารเท็จ แบบที่ไม่ควรจะเกิดขึ้น”

ย้อนรอยการจัดซื้อรถเมล์ใหม่ ถือเป็นความพยายามขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) มาหลายปี แต่ต้องมีอันยกเลิกประมูลเพราะถูกต่อต้านจากหลายๆ เหตุผล นับตั้งแต่คณะรัฐมนตรี (ครม.) “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” มีมติอนุมัติโครงการจัดซื้อรถโดยสารใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ (NGV) จำนวน 3,183 คัน วงเงิน 13,162.2 ล้านบาท รวมค่าซ่อมบำรุง 10 ปี วงเงินประมาณ 13,858.408 ล้านบาท มูลค่าทั้งโครงการ 27,020.608 ล้านบาท ซึ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางว่ามีขบวนการล็อกเสปก และมีความพยายามเร่งรัดตัดตอนการประมูลด้วยวิธีทางอิเล็กทรอนิกส์ (อี-ออกชัน)

ในครั้งนั้น ขสมก.กำหนด TOR แบ่งประมูลรถโดยสารธรรมดา (รถร้อน) จํานวน 1,659 คัน ราคากลาง 3.8 ล้านบาท/คัน รถโดยสารปรับอากาศ จํานวน 1,524 คัน ราคากลาง 4.5 ล้านบาท/คัน ว่ากันว่า ...จัดสรรให้ค่ายรถจากจีนรับออเดอร์รถปรับอากาศ ส่วนรถร้อนจะเป็นของค่ายรถญี่ปุ่น แถมจะมีการใช้แชสซีส์รถบรรทุกมาดัดแปลงทำเพื่อให้เหลือส่วนต่างเป็นเงินทอนมากที่สุดอีกด้วย

“ขบวนการล็อกถูกแฉเพราะในวงการรถยนต์ไม่มีความลับ เรียกว่ารู้ไส้ ใครได้...ใครเสีย ที่สำคัญ ถ้าใช้แชสซีส์รถบรรทุกมาดัดแปลงอาจจะมีปัญหาความปลอดภัยตามมา ซึ่งนั่นคือชีวิตของผู้ใช้บริการกว่า 5 ล้านคนต้องอยู่บนความเสี่ยง”

ในขณะนั้น ขสมก.ระบุว่ามีความจำเป็นจะต้องจัดซื้อรถโดยสารใช้ NGV จำนวน 3,183 คัน เพื่อนำมาทดแทนรถ ขสมก.ที่มีสภาพเก่า ชำรุด ทรุดโทรม และจอดเสียเป็นจำนวนมาก โดยกำหนดให้จัดส่งรถโดยสารในระยะแรกจำนวน 489 คันภายในระยะเวลา 90 วัน นับถัดจากวันลงนามสัญญา

คณะอนุกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชุดศึกษาเฝ้าระวังโครงการจัดซื้อรถเมล์ NGV 3,183 คัน ที่มีนายไพโรจน์ วงศ์วิภานันท์ เป็นประธาน มีการตรวจสอบอย่างหนักหน่วงถึงการหมกเม็ดราคากลาง ขณะที่เครือข่ายผู้พิการฯ ยืนยันต้องเป็นสเปกรถแบบชานต่ำ (Low Floor) ทั้งหมด เพื่อความสะดวกทั้งเด็ก คนชรา ผู้พิการ หรือแม้แต่สตรีตั้งครรภ์...

เมื่อเปลี่ยนเป็นรัฐบาล คสช.จึงมีการทบทวนโครงการให้มีความโปร่งใสและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศและประชาชน เมื่อถูกโจมตีหนัก ขสมก.จึงปั้นโครงการ กลายร่างเป็นการจัดซื้อรถเมล์ NGV แบบ Low Floor ทั้ง 3,183 คัน ซื้อล็อตแรก 489 คัน

ที่สำคัญรัฐบาล คสช.ผลักดัน และนำหลักเกณฑ์ วิธีการ และแนวทางในการใช้ระบบข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact) ในการจัดซื้อจัดจ้าง และมีข้อตกลงคุณธรรม 3 ฝ่ายระหว่าง ขสมก. ผู้สังเกตการณ์ที่ได้รับแต่งตั้งจากองค์การต่อต้านคอร์รัปชั่น  (ประเทศไทย) และผู้เข้าร่วมเสนอราคา ชูเป็นโครงการนำร่องต้นแบบแห่งความโปร่งใส...

ดูมีความหวัง ขสมก.ใส่เกียร์เปิดประมูล มีเอกชนหลายราย เช่น บริษัท ช.ทวี ดอลลาเซียน จำกัด (มหาชน) หรือ CHO, บริษัท ธนบุรี มอเตอร์เซลส์ จำกัด, บริษัท ตงฟง มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท เบสท์ริน กรุ๊ป จำกัด บริษัท ดองแฟง แยงซี มอเตอร์ วูฮั่น (ไทยแลนด์) จำกัด เป็นต้น

แต่ผ่านคุณสมบัติมาแข่งเคาะราคาแค่ 2 ราย คือ กิจการร่วมค้า JVCC ที่มีบริษัท ช.ทวี เป็นแกนนำ กับเบสท์ริน กรุ๊ป ...สรุป “ช.ทวีฯ” ชนะ โดยเสนอราคารถต่ำกว่าราคากลางประมาณ 1 แสนบาท/คัน ลดจาก 3.65 ล้านบาท เหลือ 3.55 ล้านบาท โดยมีประเด็นกังขาเรื่องแยกสัญญาซ่อมบำรุงไปต่อรองต่างหาก

ไม่ทันได้เซ็นสัญญา นายเค่อนั่ว หลิน หรือปัจจุบันชื่อ นายคณิสสร์ ศรีวชิระประภา ประธานกรรมการบริษัท เบสท์รินกรุ๊ป จำกัด ได้ยื่นร้องเรียนถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และคณะกรรมการว่าด้วยการพัสดุด้วยวิธีทางอิเล็กทรอนิกส์ (กวพ.อ.) แถมยังมีคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (คตช.) ของอดีตผู้สังเกตการณ์โครงการจัดซื้อรถเมล์ NGV ลาออกไป 2 คน เพราะเห็นว่าการประมูลไม่โปร่งใส และไม่ต้องการมีส่วนร่วมในการกระทำความผิดด้วย

เมื่อทำท่าจะไปต่อไม่ได้ กระทรวงคมนาคมส่งสัญญาณแช่แข็งซื้อรถเมล์ NGV 489 คัน หันไปผลักดันของใหม่อย่างรถเมล์ไฟฟ้า 200 คัน

ที่สุดบอร์ด ขสมก. ที่มี พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน มีมติเมื่อวันที่ 18 พ.ย. 2558 ยกเลิกการประมูลรถเมล์ NGV 489 คัน โดยอ้างว่า TOR เดิมถูกมองว่าอาจจะทำให้การเสนอราคาไม่เป็นธรรมได้ ซึ่ง “กิจการร่วมค้า JVCC” ยื่นฟ้อง ขสมก.ว่ายกเลิกประมูลไม่เป็นธรรม

ด้าน ขสมก.เดินหน้าปรับ TOR เปิดประมูลใหม่ มีเอกชนซื้อซองประมูล 11 ราย โดยมายื่นซอง 3 ราย แต่ผ่านคุณสมบัติ 2 รายหน้าเดิม “กิจการร่วมค้า JVCC, เบสท์ริน กรุ๊ป” แต่!!! รอบนี้ “เบสท์ริน กรุ๊ป” ชนะ ขสมก.ไม่รอเวลานาน ลุยเซ็นสัญญา แม้ว่าทาง JVCC จะร้องเรียนในประเด็นที่เบสท์ริน กรุ๊ป เป็นนิติบุคคลที่มีคุณสมบัติขัดต่อข้อกำหนดระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 ข้อ 30 และ 31 และประกาศขององค์การ เลขที่ 04/2559 เรื่อง โครงการประกวดราคาซื้อ รถโดยสารปรับอากาศใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติด้วยวิธีทางอิเล็กทรอนิกส์ ข้อ 1.10, 2.10 โดยแสดงบัญชีรายรับ รายจ่าย หรือแสดงบัญชีรายรับรายจ่ายไม่ถูกต้องครบถ้วนในสาระสำคัญ

โดยหลังเซ็นสัญญา 90 วัน เบสท์รินฯ ต้องส่งมอบรถครบทั้ง 489 คัน หรือเท่ากับต้องมีกำลังการผลิตเฉลี่ย 5-6 คันต่อวัน ซึ่งใน TOR กำหนดให้ผู้ยื่นประมูลต้องระบุรายละเอียด แผนการผลิต ระบุโรงงานผลิตที่ไหน อย่างชัดเจน

ราคากลางรถเมล์ NGV อยู่ที่คันละ 3,549,182 บาท เปิดเอกสารนำเข้าของเบสท์รินฯ ระบุราคาคันละ 79,220 ดอลลาร์สหรัฐ หรือคันละ 2.84 ล้านบาท (35.90 บาท : 1ดอลลาร์สหรัฐ) รถราคานี้ถ้าต้องเสียภาษีนำเข้า 40% ต้นทุนจะไปอยู่ที่คันละ 3.9 ล้านบาท “ทุนหายกำไรหด” มีวิธีเดียวคือ ต้องใช้ประเทศในอาเซียน ซึ่งเลือกมาเลเซียเป็นแหล่งผลิต โดยสำแดงข้อมูลนำเข้าประเทศไทยว่าใช้อะไหล่ของมาเลเซียในสัดส่วน 90% ของราคารถ โดยมีเอกสาร Form D จากมาเลเซียยืนยัน ซึ่งจะทำให้รถเมล์ 489 คันได้รับการยกเว้นภาษีตามข้อตกลงการค้าเสรีอาเซียน

แต่ทว่า!!! กรมศุลฯ ไม่เชื่อถือเอกสาร เพราะพบพิรุธการนำเข้าจากจีนและแวะพักมาเลเซีย ไม่ได้ประกอบในโรงงานมาเลเซีย เรื่องนี้ต้องรอการตรวจสอบข้อเท็จจริงของกรมศุลฯ ส่วน ผอ.ขสมก. “สุระชัย เอี่ยมวชิรสกุล” บอกว่า ขสมก.เป็นผู้ซื้อ ส่วนเบสท์รินฯ ผู้ขายจะนำรถมาอย่างไรไม่รู้ไม่เห็น ขอแค่รถเป็นไปตามที่กำหนดเป็นพอ ถ้าไม่ได้รถใน 29 ธ.ค.นี้ครบ 489 คันตามสัญญา ผู้ขายจะต้องถูกปรับ 17,000 บาท/คัน/วัน

“ขสมก.ไม่สนที่มาของรถ ...แบบนี้ ถ้ามีการขโมยรถมาขายต่อให้ก็ไม่สนใจเลยหรือ? หน้าที่ในการจัดซื้อไม่ใช่นั่งรอเมื่อไหร่จะได้รถ แต่ควรจะให้ความสนใจที่มาของรถหรือไม่ เพราะหากมีปัญหาเกิดขึ้นไม่ได้รถตามแผน สุดท้ายคนเสียประโยชน์คือประชาชน”

NGV รถเมล์แห่งชาติ ...เอกชนแข่งขัน...เอาคืน...ไม่รู้แพ้ รู้ชนะ ...ขสมก.ปัดความรับผิดชอบ คงต้อง “วัดใจรัฐบาล คสช.” จะเลือกข้างกรมศุลฯ ปล่อยให้ทำหน้าที่ตรวจสอบทุจริตเต็มที่ “ผิด ปรับ จับ ยึด” ตามสัญญา คสช.ได้หน้าปราบโกง ...แต่ต้องประเมินเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศด้วย เพราะถ้าผิดจริงจะเป็นทุจริตข้ามประเทศกันเลย ...แต่ถ้าอ้างว่าต้องการเร่งด่วนเพื่อประชาชนได้นั่งรถใหม่อย่างเดียว โครงการนี้อาจจะไม่สร้างประโยชน์แก่ประเทศ...
กำลังโหลดความคิดเห็น