xs
xsm
sm
md
lg

ไทยออยล์จ่อรื้อพอร์ตลงทุนเอทานอล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“ไทยออยล์” ทบทวนพอร์ตลงทุนเอทานอลหลังผลตอบแทนต่ำ และผู้ค้าน้ำมัน ม.7 หันไปซื้อเอทานอลมาให้โรงกลั่นผสม ทำให้โรงกลั่นไม่มีความจำเป็นต้องมีโรงเอทานอลเอง ฟุ้ง กพช.อนุมัติเปิดเสร LPG หนุนรายได้เพิ่ม 350 ล้านบาท

นายอธิคม เติบศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) (TOP)เปิดเผยว่า ขณะนี้บริษัทฯ อยู่ระหว่างทบทวนการลงทุนในโรงงานเอทานอล ที่ปัจจุบันบริษัทถือหุ้นในบริษัทผลิตเอทานอลอยู่ 3 โรงงาน คิดเป็นกำลังการผลิตรวม 830,000 ลิตรต่อวัน โดยบริษัทจะพิจารณาว่าควรดำเนินการอย่างไรหลังผลตอบแทนการลงทุนในธุรกิจดังกล่าวต่ำและผู้ค้าน้ำมันมาตรา 7 ก็ดำเนินการจัดหาเอทานอลมาให้โรงกลั่นผสมเป็นน้ำมันแก๊สโซฮอล์เอง ทำให้โรงกลั่นไม่มีความจำเป็นต้องมีโรงงานเอทานอลเอง ดังนั้น การจัดพอร์ตการลงทุนเอทานอลอาจจะขายหุ้นออกไปหรือต่อยอดเอทานอลไปทำผลิตภัณฑ์อื่น เป็นต้น แต่จะไม่ให้กระทบต่อวิสัยทัศน์ของบริษัทที่ต้องคงสัดส่วนของธุรกิจสีเขียว (green) ไว้ คาดว่าจะมีความชัดเจนในไตรมาส 1/2560

ปัจจุบัน ไทยออยล์มีธุรกิจเอทานอลเป็นธุรกิจสีเขียวประเภทเดียวเท่านั้น ซึ่งในอนาคตอาจจะต้องพิจารณาปรับเพิ่มมูลค่าการใช้ประโยชน์จากโรงงานเอทานอลไปสู่ธุรกิจกรีนให้เกิดความต่อเนื่องอย่างไร

ทั้งนี้ ไทยออยล์ถือหุ้นในบริษัทผลิตเอทานอลทั้ง 3 บริษัท ดังนี้ คือ 1. บริษัท แม่สอดพลังงานสะอาด จำกัด ซึ่งผลิตเอทานอลจากอ้อย ขนาดกำลังการผลิต 230,000 ลิตรต่อวัน ไทยออยล์ถือหุ้นในสัดส่วน 30% บริษัท ทรัพย์ทิพย์ จำกัด ซึ่งผลิตเอทานอลจากมันสำปะหลังเส้น ขนาดกำลังการผลิต 200,000 ลิตรต่อวัน ไทยออยล์ถือหุ้นในสัดส่วน 50% และบริษัท อุบล ไบโอ เอทานอล ซึ่งผลิตเอทานอลจากมันสำปะหลังและกากน้ำตาล ขนาดกำลังการผลิต 400,000 ลิตรต่อวัน ไทยออยล์ถือหุ้นในสัดส่วน 21%

นายอธิคมกล่าวต่อไปว่า ตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เห็นชอบแผนเปิดเสรีธุรกิจก๊าซปิโตรเลียมเหลว (แอลพีจี) นั้น บริษัทฯ คงไม่สามารถเพิ่มกำลังการผลิตแอลพีจีออกสู่ตลาดได้มากนัก แม้ว่าภาครัฐจะปรับเพิ่มราคาแอลพีจีหน้าโรงกลั่นจากเดิมราคาตะวันออกกลาง(CP)ติดลบ 20 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน หรือ (CP-20) มาเป็นราคา CP ตั้งแต่เดือน ม.ค. 2560 เนื่องจากปัจจุบันไทยออยล์มีการผลิตแอลพีจีเต็มกำลังอยู่แล้วที่ 1,450 ตันต่อวัน แต่การปรับสูตรราคาแอลพีจีหน้าโรงกลั่นจะส่งผลดีทำให้โรงกลั่นต่างๆ มีรายได้เพิ่มขึ้น โดยในส่วนของไทยออยล์ คาดว่าจะมีรายได้เพิ่มขึ้น 10 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี หรือประมาณ 350ล้านบาท/ปี

อย่างไรก็ตาม จากราคาแอลพีจี ที่ปรับเพิ่มขึ้นอาจเป็นแรงจูงใจให้โรงกลั่นอื่นๆ ผลิตแอลพีจีเข้าสู่ตลาดมากขึ้น เพราะบางโรงกลั่นที่มีทางเลือกในการนำแอลพีจีไปผลิตทั้งปิโตรเคมีหรือขายแอลพีจีออกสู่ตลาดหากช่องทางไหนทำกำไรมากกว่ากัน
กำลังโหลดความคิดเห็น