กรมพัฒน์ฯ เดินหน้าจัดทำข้อมูลธุรกิจ หวังใช้ติดตามทิศทางการทำธุรกิจของไทยกำลังมุ่งหน้าไปทางไหน ก่อนจัดทำแผนสนับสนุน เผยยังให้บริการลงลึกไปถึงการตรวจสอบข้อมูลการทำธุรกิจในแต่ละพื้นที่เป็นอย่างไร ต่อไปใครอยากทำธุรกิจสามารถตรวจสอบได้ทันทีควรจะลงทุนทำธุรกิจต่อหรือหยุด พร้อมจัดทำคู่มือการจดทะเบียนเป็นรายธุรกิจ อำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการ
น.ส.บรรจงจิตต์ อังศุสิงห์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า กรมฯ กำลังดำเนินการจัดทำฐานข้อมูลการประกอบธุรกิจของไทย โดยนำข้อมูลการจดทะเบียนนิติบุคคลในแต่ละเดือนมาทำการวิเคราะห์ เพื่อตรวจสอบดูว่าแนวโน้มการจดทะเบียนทำธุรกิจของประเทศเป็นไปในทิศทางไหน คนไทยให้ความสนใจในการประกอบธุรกิจอะไรในแต่ละเดือน ซึ่งข้อมูลจะแบ่งออกเป็นการจดทะเบียนธุรกิจในส่วนกลาง (กรุงเทพฯ และปริมณฑล) และแยกเป็นรายภาค ซึ่งจะทำให้ตรวจสอบแนวโน้มการทำธุรกิจของคนไทยในประเทศได้
“ต่อไปเราจะรู้เลยว่าในแต่ละเดือนมีคนไทยสนใจทำธุรกิจอะไรกันบ้าง และมีธุรกิจใหม่ๆ อะไรที่กำลังเติบโต โดยดูจากฐานข้อมูลการจดทะเบียนนิติบุคคล และจะดูได้ถึงว่าในแต่ละภาค แต่ละจังหวัด แนวโน้มการทำธุรกิจเป็นอย่างไร ซึ่งเมื่อรู้ข้อมูลแล้ว ก็สามารถนำมาวางแผนในการให้ความช่วยเหลือหรือเข้าไปพัฒนา เพื่อให้ธุรกิจเหล่านี้เติบโตเพิ่มขึ้นได้”
นอกจากนี้ ในระยะต่อไปผู้ที่อยากจะทำธุรกิจสามารถตรวจสอบได้เลยว่าในจังหวัดนี้ ในภาคนี้ หากอยากจะทำธุรกิจ มีธุรกิจแบบเดียวกันนี้ในพื้นที่แล้วกี่ราย รายเล็ก หรือรายใหญ่ เพื่อเป็นข้อมูลในการประกอบการตัดสินใจว่าถ้าจะทำธุรกิจจะมีคู่แข่งมากน้อยแค่ไหน และควรที่จะเดินหน้าทำธุรกิจต่อหรือไม่ เช่น อยากจะเปิดร้านกาแฟในเชียงใหม่ ก็สามารถตรวจสอบได้ว่ามีนิติบุคคลที่เปิดร้านแบบนี้แล้วมีกี่ราย อยู่พื้นที่ไหนบ้าง หรือจะเปิดร้านซักอบรีดที่นนทบุรีเพราะมีคอนโดมิเนียมเกิดขึ้นเยอะ ก็สามารถตรวจสอบได้ว่ามีธุรกิจประเภทนี้จัดตั้งแล้วกี่ราย เป็นต้น
น.ส.บรรจงจิตต์กล่าวว่า กรมฯ ยังมีแผนที่จะจัดทำคู่มือการจดทะเบียนธุรกิจเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการแยกเป็นรายธุรกิจ เพราะปกติกรมฯ จะรับจดทะเบียนนิติบุคคล แล้วก็จบตรงที่จดจัดตั้งได้ แต่ต่อไปจะให้คำแนะนำต่อไปว่าเมื่อจดตั้งบริษัทได้แล้วต้องไปทำอะไรต่อ ต้องไปขออนุญาตต่อที่ไหน เพราะแต่ละธุรกิจอาจจะไม่ใช่จบแค่จดเป็นบริษัท แต่อาจต้องไปขออนุญาตกับหน่วยงานอื่นๆ ด้วย เช่น ร้านทอง ร้านขายยา เป็นต้น
ขณะเดียวกัน มีแผนที่จะฝึกอบรมผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก (เอสเอ็มอี) ให้สามารถอ่านงบการเงินเป็นเพราะส่วนใหญ่ไม่ค่อยสนใจ โดยต่อไปเอสเอ็มอีไม่ใช่แค่จดทะเบียนตั้งบริษัทและทำธุรกิจ แต่จะต้องอ่านงบการเงินเป็นด้วย เพื่อให้รู้ว่าธุรกิจของตัวเองมีความมั่นคงหรือไม่ แนวโน้มธุรกิจเป็นอย่างไร และมีอะไรที่จะต้องปรับปรุง ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการทำธุรกิจของเอสเอ็มอีเอง