xs
xsm
sm
md
lg

กรมพัฒน์ประกาศเตือน ไม่เอาไว้ “ธุรกิจทุนเท็จ” สำรวจเข้มปี 59 คาดโทษร้ายแรง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นางสาวผ่องพรรณ เจียรวิริยะพันธ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า
“กรมพัฒนาธุรกิจการค้า” ตรวจสอบธุรกิจปี 58 พบร้อยละ 5 ใน 300,000 ราย กระทำผิดกฎหมายบัญชีติดหมายเหตุ แจ้งไปแล้วเป็นหมื่นราย เตือนหยุดความคิดจดทะเบียนธุรกิจเพื่อหลอกลวงสังคม เพราะปี 59 กรมฯ ตรวจเข้มเอาจริงกว่านี้ พร้อมลงโทษและเผยแพร่นิติบุคคลที่กระทำผิดผ่านหมายเหตุในหนังสือรับรองให้สังคมช่วยตัดสิน

น.ส.ผ่องพรรณ เจียรวิริยะพันธ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า นอกจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้ามีภารกิจสำคัญในด้านการให้บริการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจแล้ว ภารกิจอีกด้านหนึ่งที่กรมฯ ได้ดำเนินการควบคู่กันไปอย่างเข้มข้น คือ “ธรรมาภิบาลธุรกิจ” ซึ่งเป็นการสอดส่องดูแลให้ธุรกิจต้องปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด เพราะหากไม่เป็นเช่นนั้นก็จะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชน และท้ายที่สุดก็จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของชาติในวงกว้าง

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา กรมฯ เดินหน้าให้ความรู้ด้านการดำเนินธุรกิจแก่ผู้ประกอบการและตรวจสอบความถูกต้องอย่างต่อเนื่อง โดยปี 2558 ได้ดำเนินการตรวจสอบบัญชีและงบการเงินของธุรกิจจำนวน 300,000 ราย พบว่ามีธุรกิจกว่าหมื่นรายหรือร้อยละ 5 กระทำการผิดกฎหมายไม่ส่งบัญชีและเอกสารให้ตรวจสอบตามที่กรมฯ ร้องขอ พฤติกรรมลักษณะนี้จะต้องติดบัญชีรายชื่อผู้กระทำผิด (Black List) เพื่อติดตามการกระทำอย่างใกล้ชิดในปีต่อไปและได้รับโทษทางกฎหมาย สำหรับโทษสูงสุดของการกระทำผิด กฎหมายบัญชีคือ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

“แม้จำนวนผู้กระทำผิดในปี 2558 อาจดูเหมือนมีสัดส่วนไม่สูงมากนัก แต่เมื่อพิจารณาในรายละเอียด พบว่า ธุรกิจที่กระทำผิดส่วนใหญ่จะเป็นลักษณะ “ทุนเท็จ” กล่าวคือ การจดทะเบียนในทุนสูงแต่ไม่มีเงินเข้ามาดำเนินในกิจการจริง หรือการนำเงินจากแหล่งผิดกฎหมายมาฟอกเงินโดยใช้การจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจบังหน้า และการเข้ามาประมูลงานหรือรับค่านายหน้าจากโครงการก่อสร้างใหญ่ๆ ของภาครัฐ ซึ่งในปี 2559 กรมฯ จะเพิ่มมาตรการที่เข้มข้นมากยิ่งขึ้นเพื่อขจัดธุรกิจที่มีการหลอกลวงประชาชนในรูปแบบนี้ โดยเน้นการตรวจสอบบัญชี และงบการเงินของธุรกิจที่มีทุนจดทะเบียนเกิน 5 ล้านบาทขึ้นไป ซึ่งปัจจุบันธุรกิจที่ประสงค์จะจดทะเบียน ลักษณะนี้จะต้องแสดง Bank Statement ต่อนายทะเบียนเพื่อยืนยันสถานะทางการเงินด้วยเพื่อยืนยันความโปร่งใสในการประกอบธุรกิจ” อธิบดีกล่าว

อย่างไรก็ดี นิติบุคคลที่กรมฯ ตรวจพบว่ากระทำผิดกฎหมายจะ “ต้องถูกระบุในหมายเหตุ” ท้ายหนังสือรับรองเพื่อเตือนให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหรือผู้ที่ใช้งบการเงินของนิติบุคคลได้พึงระวังและพิจารณาถึงความน่าเชื่อถือของธุรกิจเหล่านั้น โดยที่ผ่านมามีนิติบุคคลที่ถูกระบุในหมายเหตุไปแล้วกว่าหมื่นราย สำหรับนิติบุคคลรายใดที่ประสงค์จะให้กรมฯ นำหมายเหตุดังกล่าวออกไป จำเป็นต้องส่งบัญชีและเอกสารตามที่กรมฯ ได้เคยเรียกให้ครบถ้วน กรมฯ จึงจะสามารถดำเนินการให้ได้ ทั้งนี้ ประชาชนสามารถตรวจสอบหมายเหตุได้จากเว็บไซต์กรมพัฒนาธุรกิจการค้า www.dbd.go.th หัวข้อ “คลังข้อมูลธุรกิจ” และ Application DBD e-Service โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ

* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SMEs ผู้จัดการ” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *


กำลังโหลดความคิดเห็น