“เบสท์ริน กรุ๊ป” ยื่นข้อเสนอขอกรมศุลกากรตรวจปล่อยรถให้ก่อน ชี้มีแบงก์การันตีกว่า 300 ล้านพร้อมให้ยึด หวั่นใช้เวลาพิสูจน์เอกสารนาน ประชาชนเสียโอกาสนั่งรถใหม่ หากพบนำเข้าถูกต้องค่อยจ่ายเงินให้บริษัท ชี้ไม่ต้องการให้ยกเลิกสัญญา พร้อมจ่ายค่าปรับภาษีนำเข้า หากผิดจริงแล้วไปฟ้องต่อกับผู้นำเข้า เผยทำสัญญาสั่งซื้อรถจากโรงงานมาเลเซีย ไม่รู้วิธีการผลิต เพราะเสียมารยาทการค้า แค่ตรวจสเปกถูกต้องเท่านั้น
นายคณิสสร์ ศรีวชิระประภา ประธานบริษัท เบสทริน กรุ๊ป จำกัด กล่าวว่า กรณี กรมศุลกากร ไม่ปล่อยรถโดยสารที่ใช้เชื้อเพลิงธรรมชาติ (NGV) จำนวน 99 คัน โดยระบุว่า การนำเข้ารถเมล์ NGV ดังกล่าวไม่ได้เป็นไปตามข้อตกลงสนธิสัญญาเขตการค้าเสรีกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน (Form D) แต่เป็นการนำเข้ารถสำเร็จรูปจากประเทศจีนผ่านประเทศมาเลเซียและเข้าสู่ประเทศไทยนั้น ขอชี้แจงว่า บริษัท เบสทริน เป็นแค่ผู้นำเข้า มีหน้าที่นำเอกสารที่ผู้ผลิตและผู้ส่งออกจากมาเลเซียนำส่งและยื่นสำแดงต่อเจ้าหน้าที่กรมศุลกากร ไม่ได้เป็นคนจัดทำเอกสารเอง และหน่วยงานที่ออกเอกสาร Form D คือกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมระหว่างประเทศของประเทศมาเลเซีย การที่บอกว่าบริษัทฯ จงใจหลีกเลี่ยงภาษีอาจทำให้สังคมเข้าใจผิด
โดยหากกรมศุลกากรจะใช้เวลาในการตรวจสอบนาน บริษัทฯ มีข้อเสนอเพื่อเป็นทางออก โดยขอให้กรมศุลกากรพิจารณาปล่อยรถออกมาเพื่อให้ประชาชนได้ใช้บริการตามเป้าหมายของรัฐบาล เพราะบริษัทได้วางแบงก์การันตีไว้จำนวนกว่า 300 ล้านบาท หากในอนาคตตรวจสอบเสร็จแล้วพบว่าการนำเข้า Form D ไม่ถูกต้องสามารยึดหลักประกันไปได้ แต่หากตรวจสอบแล้วทุกอย่างถูกต้อง ทางกระทรวงการคลังซึ่งค้ำประกันให้องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ก็จ่ายเงินค่ารถให้บริษัท วงเงิน 3,300 ล้านบาทตามสัญญา หากผิดก็ไม่ต้องจ่ายค่ารถ ซึ่งกรมศุลกากรเป็นหน่วยงานของกระทรวงการคลัง น่านะเจรจากันได้ ซึ่งจะเร่งทำหนังสือไปที่ ขสมก. และกระทรวงคมนาคมเพื่อเสนอทางออกนี้ด้วย
สำหรับโรงงานประกอบรถยนต์นั้น บริษัทฯ ได้ทำสัญญาสั่งซื้อรถที่จะส่งมอบให้ ขสมก.ที่โรงงานประเทศมาเลเซีย ไม่ได้ซื้อจาก Sunlong ของจีน เพราะเราต้องการ ได้รับยกเว้นภาษีตามข้อตกลงอาเซียน ไม่มีเหตุผลที่จะสั่งซื้อตรงจากจีน ส่วนทางโรงงานมาเลเซียจะใช้วิธีการสั่งซื้ออย่างไรทางบริษัท ไม่สามารถไปก้าวล่วงได้เพราะเป็นมารยาททางการค้า บริษัทให้ความสำคัญกับสินค้าที่สั่งผลิตว่าจะต้องมีเสปกตรงตามที่ ขสมก.กำหนด ซึ่งโรงงานที่มาเลเซียแห่งนี้ ทางสำรักมาตรฐานอุตสาหกรรม (สมอ.) กระทรวงอุตสาหกรรมของไทย เคยเดินทางไปตรวจสอบมาตรฐานของโรงงานมาก่อนและได้รับใบรับรองอุตสาหกรรมการผลิตและอนุญาตให้นำผลิตภัณฑ์ที่ผลิตมาจำหน่ายในประเทศไทย
ที่ผ่านมาได้พยายามประสานผู้ส่งออก และกระทรวงกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมระหว่างประเทศของประเทศมาเลเซีย เพื่อให้ชี้แจงว่าเกิดอะไรขึ้น เพราะตอนนี้เบสท์รินเป็นผู้เสียหาย รถที่นำออกจากท่าเรือไม่ไดเทจะมีค่าแรงค่าใช้จ่าย 3-4 แสนบาท/วัน และรถล็อตที่ 2 ทยอยเข้ามาแล้ว และจะทยอยเข้ามาจนครบตามแผนการนำออกจากท่าเรือไม่ได้ทำให้บริษัทมีต้นทุนเพิ่ม
นายคณิสสร์ยืนยันว่า หากตรวจสอบเอกสาร Form D พบว่าเป็นของปลอม บริษัทฯ พร้อมจ่ายค่าปรับชำระภาษี เพราะถือเป็นหน้าที่ และต้องฟ้องร้องบริษัทผู้นำเข้าที่นำเอกสารเท็จมาให้บริษัทฯ แต่ทั้งนี้บริษัทไม่ต้องการให้เกิดการเสียหายถึงขั้นการยกเลิกสัญญาจัดซื้อ จะพยายามปฏิบัติตามสัญญา หากยังส่งมอบรถไม่ได้หลังวันที่ 29 ธ.ค. 2559 ขสมก.สามารถปรับได้ 10,000 บาท/คัน/วัน ตามสัญญา ซึ่งเรามีแบงก์การันตีมูลค่ากว่า 300 ล้านบาทเป็นหลักประกัน ขณะนี้พยายามเสนอแนวทางแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เพื่อนำรถมาให้บริการประชาชนก่อน เพราะเราลงทุนสั่งซื้อรถไปแล้ว 1,000 กว่าล้านบาท ตอนนี้มีค่าแรงค่าใช้จ่ายเพิ่มเพราะรถออกจากท่าเรือไม่ได้ ซึ่งขอกรมศุลกากรเร่งรัดการพิสูจน์เอกสารด้วย
“เรามั่นใจในความถูกต้องของเอกสารซึ่งระบุชัดเจนว่าผลิตจากโรงงานมาเลเซียม โรงงานนี้ผลิตรถยนต์ ประกอบรถทุกขนาด ส่งออกไป 35 ประเทศทั่วโลก และเชื่อมั่นในศักยภาพของโรงงาน ทั้งนี้ บริษัทฯ ยินดีให้ความร่วมมือกัยกรมศุลกากรในการปฏิบัติตามข้อกฎหมาย และพร้อมอำนวยความสะดวกในการตรวจสอบเอกสารทุกประการ” นายคณิสสร์กล่าว