xs
xsm
sm
md
lg

เมล์เอ็นจีวี Sunlong นำเข้าจากมาเลฯ ส่อเสี่ยงภาษี “ศุลกากร” เผย “เบสท์ริน” มีข้อมูลชวนสงสัย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กรมศุลฯ สงสัยรถเมล์ เอ็นจีวี Sunlong นำเข้าจากมาเลเซีย ล็อตแรก 100 คัน แจ้งสำแดงแหล่งกำเนิดไม่ชัดเจน ยันต้องเสียภาษีเพิ่มอีก 1.2 ล้านบาทต่อคัน พร้อมเดินหน้าเร่งตรวจสอบ คาดใช้เวลา 1 เดือน แม้ว่า ซุปเปอร์ซาร่า และ เบสท์ริน กรุ๊ป จะไม่ได้อยู่ในแบล็กลิสต์ แต่พบว่ามีข้อมูลที่ชวนสงสัย

นายชัยยุทธ คำคุณ รองอธิบดีกรมศุลกากร ในฐานะโฆษกกรมศุลกากร เปิดแถลงข่าวกรณีกรมศุลกากร ไม่ยอมปล่อยรถโดยสารที่ใช้เชื้อเพลิงธรรมชาติ (NGV) ยี่ห้อ Sunlong ที่มีการนำเข้ามาที่ท่าเรือแหลมฉบัง จำนวน 100 คัน โดยระบุว่า จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงของกรมศุลกากร พบว่า การนำเข้ารถเมล์ NGV ดังกล่าวไม่ได้เป็นไปตามข้อตกลงสนธิสัญญาเขตการค้าเสรีกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน (Form D) แต่เป็นการนำเข้ารถสำเร็จรูปจากประเทศจีน ผ่านประเทศมาเลเซีย และเข้าสู่ประเทศไทย จึงต้องการมีตรวจสอบข้อเท็จจริงให้ถูกต้อง

กรณีดังกล่าวทางบริษัท ซุปเปอร์ซาร่า จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทฯ ผู้นำเข้ารถได้แจ้งนำเข้ารถเมล์ NGV ทั้งหมด 2 รอบ โดยรอบแรกนำเข้า 1 คัน โดยสำแดงถิ่นกำเนิดจากประเทศมาเลเซีย เพื่อขอยกเว้นอากรตามข้อตกลง Form D แต่ศุลกากรตรวจสอบพบว่า หมายเลขตู้คอนเทนเนอร์ที่นำรถดังกล่าวเข้ามานั้น เป็นหมายเลขตู้เดียวกันกับที่ออกจากประเทศจีน โดยสำแดงเป็นรถ NGV สำเร็จรูป ยี่ห้อ โมเดลตรงกันอย่างชัดเจน และส่งออกจากจีน เมื่อวันที่ 28 ต.ค. เข้ามาเลเซีย วันที่ 9 พ.ย. และออกวันที่ 23 พ.ย. โดยถึงไทยวันที่ 30 พ.ย.2559 เป็นช่วงเวลาที่ไล่เลี่ยต่อเนื่องกัน

และรอบที่ 2 สำแดงนำเข้า 99 คันในลักษณะเดียวกัน โดยขนส่งผ่านทางเรือ ออกจากจีนวันที่ 13 พ.ย. เข้ามาเลเซียวันที่ 19 พ.ย. ออกวันที่ 26 พ.ย. และเข้าไทยวันที่ 1 ธ.ค.ที่ผ่านมา

“จากนี้กรมฯ จะเร่งตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยเร็ว และประสานความร่วมมือไปยังศุลกากรมาเลเซีย เกี่ยวกับการผลิต และการออก Form D และประเทศจีน ซึ่งอาจจะต้องขอไปดูโรงงานผลิตด้วย”

ทั้งนี้ หากตรวจสอบพบว่า การนำเข้าไม่ถูกต้อง แม้จะบริษัท เบสท์ริน กรุ๊ป จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ชนะการประมูลจัดซื้อรถเมล์ NGV กับองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ได้ยื่นใบขน และชำระภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% เรียบร้อยแล้ว จะถือว่าบริษัทเบสทริน ฉ้อฉล สำแดงภาษีเป็นเท็จทันที มีความผิดในการเลี่ยงภาษีอากร และจะต้องจ่ายภาษีนำเข้า 40% ของมูลค่ารถยนต์ NGV รวมค่าปรับ 4 เท่าของมูลค่าภาษี

แต่หากกรณีนี้ไม่ผิด และเอกชนต้องการฟ้องกรมศุลกากร ก็เป็นสิทธิที่ทำได้ ซึ่งกรมฯ ยืนยันว่า เป็นการทำตามหน้าที่ดูแลการเสียภาษีให้มีความถูกต้อง ไม่ได้ทำเฉพาะการอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการเท่านั้น

นายชัยยุทธ กล่าวว่า แม้บริษัท ซุปเปอร์ซาร่า จำกัด และบริษัท เบสท์ริน กรุ๊ป จำกัด จะไม่ได้อยู่ในรายชื่อบริษัทที่มีความเสี่ยงในการตรวจสอบ แต่ก็มีข้อมูลที่กรมศุลกากร ต้องตั้งข้อสังเกต ทั้งนี้ หากเอกชนต้องการจะนำรถออกจากท่าเรือแหลมฉบัง ก็ต้องนำแบงก์การันตี มูลค่า 40% ของมูลค่ารวมค่าปรับ 4 เท่า มาชำระให้กับกรมศุลกากรก่อน ส่วนจะมีการใช้มาตรา 44 เพื่อให้นำรถออกไปหรือไม่ ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
กำลังโหลดความคิดเห็น