xs
xsm
sm
md
lg

ดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน พ.ย.วูบติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 หลังคนกังวลเศรษฐกิจ เกษตรราคาตก ค่าครองชีพพุ่ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน พ.ย.ปรับตัวลดลงทุกรายการต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน หลังคนกังวลเศรษฐกิจไร้สัญญาณฟื้นตัวชัดเจน ราคาเกษตรตกต่ำ ค่าครองชีพสูง และล่าสุดกังวลปัญหาน้ำท่วม คาดมาตรการชอปช่วยชาติจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ มีเงินเข้าระบบ 5-8 หมื่นล้าน แนะรัฐอัดฉีดต่อเนื่อง เพื่อดันจีดีพีปีหน้า

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลการสำรวจความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยประจำเดือน พ.ย. 2559 จากประชาชนทั่วประเทศ 2,242 ตัวอย่าง พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นทุกรายการปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 โดยดัชนีความเชื่อของผู้บริโภคเท่ากับ 72.3 ลดลงจากเดือน ต.ค. 2559 ที่อยู่ที่ 73.1 ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในปัจจุบันเท่ากับ 50.8 ลดจาก 52.0 และดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในอนาคตเท่ากับ 81.1 ลดจาก 81.6 ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมเท่ากับ 61.2 ลดจาก 62.0 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสในการหางานเท่ากับ 66.9 ลดจาก 67.5 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต 88.8 ลดจาก 89.6

สาเหตุที่ทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 มาจากปัจจัยลบ ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) คาดจีดีพีประเทศจะปรับตัวลดลง 0.1% หรือทั้งปีขยายตัวแค่ 3.2% การส่งออกของไทยเดือน ต.ค.มีมูลค่า 1.77 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 4.22% ราคาพืชผลทางการเกษตรหลายชนิดยังทรงตัวอยู่ระดับต่ำในมุมมองเกษตรกร ส่งผลให้กำลังซื้อในต่างจังหวัดขยายตัวไม่มากนัก ผู้บริโภคมีความกังวลเกี่ยวกับปัญหาค่าครองชีพ และราคาสินค้าทรงตัวระดับสูง ความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำท่วมในบางพื้นที่ อาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตและโอกาสทำธุรกิจ และความกังวลต่อการฟื้นตัวเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่แน่นอน

“ขณะนี้พบว่ามีสัญญาณเศรษฐกิจชะลอตัวลงและยังไม่มีสัญญาณฟื้นตัวขึ้นได้อย่างโดดเด่น เนื่องจากประชาชนยังกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์เศรษฐกิจโลกผันผวนสูง ราคาพืชผลทางการเกษตรทรงตัวในระดับต่ำ ทำให้ศูนย์พยากรณ์ฯ คาดว่าการบริโภคของภาคประชาชนยังฟื้นตัวไม่มากนักในช่วงไตรมาสสุดท้ายนี้ เพราะส่วนใหญ่ยังระมัดระวังการจับจ่ายใช้สอย แต่จากการที่ภาครัฐเข้ามาดูแลทั้งออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ มาตรการดูแลราคาพืชผลทางการเกษตร โดยเฉพาะข้าว ข้าวโพด มันสำปะหลัง มองว่าการใช้จ่าย การบริโภคน่าจะค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้นในไตรมาสแรกของปีหน้า” นายธนวรรธน์กล่าว

นายธนวรรธน์กล่าวว่า มาตรการช้อปช่วยชาติ จะช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายช่วงปลายปีได้ โดยหากลดหย่อนภาษีได้ 1.5 หมื่นบาท จะทำให้มีเงินหมุนเวียนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ 2 หมื่นล้านบาท หากลดหย่อนเป็น 3 หมื่นบาท จะมีเงินเข้าระบบ 2.5-3 หมื่นล้านบาท จากปัจจุบันที่มีการลดหย่อนด้านการท่องเที่ยว 1.5 หมื่นบาทไปแล้ว ทำให้ปลายปีนี้น่าจะมีเงินอัดฉีดเข้าสู่ระบบ 5-8 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะช่วยทำให้บรรยากาศทางเศรษฐกิจดีขึ้น และคาดว่าจะทำให้เศรษฐกิจไตรมาส 4 โตได้ถึง 3%

นอกจากนี้ รัฐบาลจำเป็นต้องเร่งอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะผลักดันให้ลงสู่เศรษฐกิจภูมิภาค เพื่อให้บรรยากาศการจับจ่ายใช้สอยมีทิศทางดีขึ้นตั้งแต่ไตรมาสแรกปีหน้าได้เป็นต้นไป โดยเฉพาะมาตรการโอนเงินสู่ผู้มีรายได้น้อยที่จะเริ่มเดือน ธ.ค.นี้ และโครงการเร่งรัดเบิกจ่ายของรัฐวิสาหกิจ ซึ่งจะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยมีแรงเหวี่ยงมากขึ้น ความเชื่อมั่นจะส่งสัญญาณดีขึ้น ตั้งแต่ช่วงปลายปีนี้ ต่อเนื่องไปถึงต้นปีหน้า ขณะที่การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ จะมีผลทำให้มีเงินเข้าสู่ระบบอีก 2-3 หมื่นล้านบาท แต่ยังไม่น่าเพียงพอที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ โดยคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวช่วงครึ่งหลังของปี 2560 โดยทั้งปีคาดว่าจีดีพีจะเติบโต 3-4% แต่ก็ถือว่าต่ำกว่าศักยภาพที่จีดีพีไทยควรจะเป็น 3.5-4% และหากโตไม่ถึง 4% อาจมีผลทำให้เศรษฐกิจไทยมีความเสี่ยงในระยะยาวอย่างต่อเนื่อง

นายธนวรรธน์กล่าวว่า ในด้านการส่งออก มองว่าปีนี้จะเติบโตอยู่ที่ 0% ถึงติดลบ 1% ส่วนปีหน้าโตได้ 0-2% หรือเฉลี่ย 1% โดยมีปัจจัยที่ต้องจับตา คือ เศรษฐกิจโลกที่ยังมีความเสี่ยง จากนโยบายของรัฐบาลนายโดนัลด์ ทรัมป์ ทั้งแนวโน้มการดำเนินนโยบาย และบรรยากาศการจับจ่ายใช้สอย รวมไปถึงผลกระทบจากการที่เครือสหราชอาณาจักรออกจากสหภาพยุโรป (เบร็กซิต) ความเสี่ยงจากการเลือกตั้ง ทั้งในอิตาลี ฝรั่งเศส เยอรมนี ขณะที่ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ทั้งยางพารา ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปาล์ม ข้าว จะอยู่ระดับต่ำ จากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่เคลื่อนไหวในกรอบ 50-55 เหรียญสหรัฐต่อบาเรล ส่งผลให้กำลังซื้อจากประเทศคู่ค้าเหล่านั้น ไม่โดดเด่น และกระทบต่อการส่งออกไทยที่จะไม่แจ่มใสตามไปด้วย

ส่วนสถานการณ์น้ำท่วมในภาคใต้ที่กำลังเกิดขึ้น คาดว่าจะส่งผลกระทบไม่มากนัก แต่ทำให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจ 5,000 ล้านบาทถึง 1 หมื่นล้านบาท จากการเดินทางไปแหล่งท่องเที่ยวที่อาจไม่สะดวก อาทิ หาดใหญ่ กระบี่ และนครศรีธรรมราช
กำลังโหลดความคิดเห็น