xs
xsm
sm
md
lg

เงินเฟ้อ พ.ย.เพิ่ม 0.60% โตสูงสุดรอบ 23 เดือน “พาณิชย์” ตั้งเป้าปีหน้าโต 1.5-2.0% หลังเศรษฐกิจฟื้น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เงินเฟ้อ พ.ย.เพิ่มขึ้น 0.60% ขยายตัวเป็นบวกติดต่อกัน 8 เดือนและสูงสุดในรอบ 23 เดือนนับจาก ธ.ค. 57 ส่วนยอดรวม 11 เดือนเพิ่มขึ้นแค่ 0.10% คาดทั้งปีโต 0.0-1.0% ตามเป้า ส่วนเป้าปี 60 ตั้งไว้ที่ 1.5-2.0% หลังเศรษฐกิจฟื้น ราคาเกษตรเพิ่ม รัฐเร่งลงทุน แต่ต้องระวังราคาน้ำมันและผลกระทบปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ

น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ (เงินเฟ้อ) เดือน พ.ย. 2559 เท่ากับ 106.79 เพิ่มขึ้น 0.60% เมื่อเทียบกับเดือน พ.ย. 2558 โดยเป็นการสูงขึ้นติดต่อกัน 8 เดือน และเป็นอัตราขยายตัวสูงสุดในรอบ 23 เดือน นับตั้งแต่เดือน ธ.ค. 2557 ที่เงินเฟ้อสูงขึ้น 0.60% และเมื่อเทียบกับ ต.ค. 2559 เงินเฟ้อลดลง 0.06% ส่งผลให้เงินเฟ้อเฉลี่ย 11 เดือนของปี 2559 (ม.ค.-พ.ย.) เพิ่มขึ้น 0.10%

สาเหตุที่เงินเฟ้อเดือน พ.ย.เพิ่มขึ้น 0.60% เป็นผลจากดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้น 1.49% สินค้าสำคัญที่ราคาแพงขึ้น เช่น เนื้อสัตว์ เป็ด ไก่และสัตว์น้ำ เพิ่ม 1.33% ไข่และผลิตภัณฑ์นม เพิ่ม 1.21% ผักและผลไม้เพิ่ม 6.09% เครื่องประกอบอาหารเพิ่ม 1.43% อาหารบริโภคนอกบ้านเพิ่ม 1.03% ส่วนหมวดอื่นๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม เพิ่ม 0.11% สินค้าสำคัญราคาแพงขึ้น เช่น น้ำมันเชื้อเพลิง เพิ่ม 1.52% หมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ เพิ่ม 12.94% หมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล เพิ่ม 0.58% เป็นต้น

ทั้งนี้ เมื่อแยกรายการสินค้า 450 รายการที่คำนวณเงินเฟ้อ พบว่ามีสินค้าราคาสูงขึ้น 123 รายการ คิดเป็นสัดส่วน 26.02% ของสัดส่วนน้ำหนักรวม เช่น หมูยอ ราคาเพิ่ม 0.69% แตงกว่า เพิ่ม 19.95% มะเขือเทศ เพิ่ม 31.55% นมสด เพิ่ม 0.12% นมข้นหวาน เพิ่ม 0.22% ครีมเทียม เพิ่ม 0.37% กะทิสำเร็จรูป เพิ่ม 0.88% มะพร้าวผลแห้ง/ขูด เพิ่ม 3.21% อาหารโทร.สั่งเพิ่ม 1.22% อาหารสำเร็จรูป/แพกพร้อมปรุง เพิ่ม 0.05% น้ำยาปรับผ้านุ่ม เพิ่ม 1.19% น้ำยาล้างห้องน้ำ เพิ่ม 0.80% ขณะที่สินค้าที่มีราคาลดลง 101 รายการ สัดส่วน 21.38% และสินค้าราคาไม่เปลี่ยนแปลง 226 รายการ สัดส่วน 52.60%

ขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (เงินเฟ้อพื้นฐาน) ที่หักสินค้าอาหารสดและพลังงานออก เดือน พ.ย. 2559 เท่ากับ 106.89 สูงขึ้น 0.72% เมื่อเทียบเดือน พ.ย. 2558 และสูงขึ้น 0.03% เมื่อเทียบเดือน ต.ค. 2559 ส่งผลให้เงินเฟ้อพื้นฐาน 11 เดือนสูงขึ้น 0.74%

น.ส.พิมพ์ชนกกล่าวว่า สำหรับเงินเฟ้อทั้งปี 2559 คาดการณ์ว่าในช่วงเดือน ธ.ค. ซึ่งเป็นเดือนสุดท้ายของปีเงินเฟ้อจะขยายตัวเล็กน้อยจากการใช้จ่ายภาคครัวเรือน รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐในช่วงปลายปี แต่ยังคงอยู่ในประมาณการที่กระทรวงพาณิชย์กำหนดไว้ว่าจะขยายตัวในระดับ 0.0-1.0% ภายใต้สมมติฐานเศรษฐกิจไทยขยายตัว 3.3% ราคาน้ำมันดิบตลาดดูไบ 35-45 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล อัตราแลกเปลี่ยน 35-37 บาทต่อเหรียญสหรัฐ

ส่วนเงินเฟ้อในปี 2560 คาดว่าจะขยายตัวระดับ 1.5-2.0% ภายใต้สมมติฐานคือ การขยายตัวทางเศรษฐกิจอยู่ที่ระดับ 3.0-3.5% โดยเศรษฐกิจมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องจากปี 2559 เพราะมีปัจจัยสนับสนุน เช่น การใช้จ่ายครัวเรือน การผลิตและรายได้เกษตรกรที่เริ่มปรับตัวดีขึ้น การใช้จ่ายและการลงทุนโครงการภาครัฐ การส่งออกสินค้าและบริการสูงขึ้น ราคาน้ำมันดิบตลาดดูไบอยู่ที่ 45-55 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ซึ่งราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มเพิ่มจากปีนี้ตามการฟื้นตัวเศรษฐกิจโลก และการควบคุมกำลังการผลิตน้ำมันของกลุ่มโอเปก ส่วนอัตราแลกเปลี่ยนคาดว่าอยู่ที่ 35.5-37.5 บาทต่อเหรียญสหรัฐ โดยมีแนวโน้มอ่อนค่าจากการปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด)

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่จะมีผลกระทบต่อเงินเฟ้อในปีหน้า ต้องติดตามภาวะราคาน้ำมัน ที่จะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตสินค้า ผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าแรงงานขั้นต่ำ 5-10 บาทต่อวัน ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2560 ซึ่งเบื้องต้นประเมินว่าจะมีผลกระทบต่อเงินเฟ้อ 0.2-0.35% โดยหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ได้รับผลกระทบทำให้สูงขึ้น 0.08% และหมวดอื่นๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มได้รับผลกระทบสูงขึ้น 0.12% ซึ่งภาครัฐจะต้องเข้าไปดูแลเรื่องการฉวยโอกาสปรับขึ้นราคาสินค้า เพราะค่าแรงที่ปรับขึ้นไม่ได้ปรับขึ้นเท่ากันทุกจังหวัด
กำลังโหลดความคิดเห็น