“คมนาคม” เห็นด้วยมิเตอร์แท็กซี่แบบใหม่ บอกข้อมูลครบถ้วน แก้ปัญหาปฏิเสธผู้โดยสาร โกงมิเตอร์ และลดการร้องเรียนได้ สั่ง ขบ.หารือสหกรณ์แท็กซี่สุวรรณภูมินำร่องใช้ระบบมิเตอร์แบบใหม่ เผยต้นทุน 40,000 บาท รวมมิเตอร์กับ GPS ในเครื่องเดียว เชื่อยกระดับบริการ ขณะที่ “ออมสิน” ชี้ปรับค่ามิเตอร์ระยะ 2 ต้องรอเวลาที่เหมาะสม เผยขณะนี้ยังมีร้องเรียนบริการอยู่
นายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ได้ประชุมร่วมกับผู้บริหารกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) และสหกรณ์แท็กซี่สุวรรณภูมิ เนื่องจากสหกรณ์ฯ ได้เสนอรูปแบบมิเตอร์และอุปกรณ์ GPS แบบใหม่ที่ได้พัฒนาขึ้น ต่อกรมการขนส่งฯ ซึ่งมีระบบเทคโนโลยีทันสมัยก้าวหน้า รวมมิเตอร์และ GPS ไว้ในเครื่องเดียวกัน และมีข้อมูลสำหรับผู้โดยสารมากขึ้น โดยก่อนหน้านี้คณะกรรมการตรวจสอบของกรมการขนส่งฯ ยังมีข้อห่วงใยกรณีที่อาจจะมีการแก้ไขข้อมูลในมิเตอร์แบบใหม่ได้ ซึ่งสหกรณ์ฯ ได้ชี้แจงแล้วว่าได้ปิดระบบที่เกี่ยวข้องกับการปรับเปลี่ยนข้อมูลในมิเตอร์แล้ว ดังนั้นจึงได้มอบให้กรมการขนส่งฯ และคณะกรรมการตรวจสอบหารือร่วมกับสหกรณ์ฯ เพื่อพิจารณาในการอนุญาตใช้มิเตอร์แบบใหม่เพิ่มจากแบบเดิม ซึ่งหากได้รับอนุมัติใช้งานทางสหกรณ์ฯ จะนำมาติดตั้งในแท็กซี่ของสหกรณ์ประมาณ 4,000 คันก่อน ส่วนระบบมิเตอร์แบบเดิมสหกรณ์ฯ และผู้ประกอบการแท็กซี่อื่นๆ ยังใช้ได้ตามปกติไม่ได้บังคับให้ปรับเปลี่ยนแต่อย่างใด แต่หากเห็นว่ามิเตอร์ระบบใหม่ดีสามารถจะปรับเปลี่ยนมาเป็นมิเตอร์ใหม่ได้ แต่อย่างไรก็ตาม ต้องรอให้กรมการขนส่งฯ อนุญาตก่อน ซึ่งคาดว่าจะได้ข้อสรุปเร็วๆ นี้
โดยมิเตอร์รูปแบบใหม่จะมีป้ายบนหลังคาที่บอกรายละเอียดว่าแท็กซี่คันดังกล่าว ว่างหรือไม่ว่าง โดยหากว่างจะขึ้นเป็นป้ายดิจิตอลสีเขียว “TAXI” แต่หากไม่ว่างจะขึ้นเป็นตัวหนังสือสีแดง “HIRED” หรือกรณีจะเปลี่ยนกะเปลี่ยนรอบจะขึ้นเป็นตัวหนังสือสีเขียว “CHANGE SHIFT” พร้อมเส้นทางที่แท็กซี่ดังกล่าวจะวิ่งไปเปลี่ยนกะ หากผู้โดยสารไปในทิศทางดังกล่าวสามารถใช้บริการได้ ซึ่งเห็นว่าจะช่วยแก้ปัญหาแท็กซี่ปฏิเสธผู้โดยสารได้ เพราะผู้โดยสารจะเห็นป้ายได้ชัดเจน นอกจากนี้ ในตัวรถจะมีหน้าจอแสดงข้อมูลให้ผู้โดยสารเห็นมากกว่ามิเตอร์ธรรมดาที่ใช้ในปัจจุบัน
นายออมสินกล่าวถึงการปรับขึ้นค่าแท็กซี่ระยะ 2 ว่า คงจะต้องให้ปรับขึ้นแต่จะต้องดูเวลาและโอกาสที่เหมาะสมก่อนรวมถึงความพร้อมในหลายเรื่อง ซึ่งขณะนี้ในเรื่องการให้บริการยังถูกร้องเรียน ทั้งการปฏิเสธผู้โดยสาร ไม่เปิดมิเตอร์ ทำให้หลายฝ่ายยังไม่เห็นด้วยที่จะให้ขึ้นค่ามิเตอร์ระยะสอง แม้ว่าการร้องเรียนจะลดลงจากก่อนหน้านี้ก็ตาม ดังนั้นผู้ประกอบการแท็กซี่จะต้องไม่เอาเปรียบผู้โดยสาร
นายหัสดินทร์ เอี่ยมชีรางกูร รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท โฮวา อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ผู้พัฒนาระบบมิเตอร์รูปแบบใหม่ กล่าวว่า ระบบมิเตอร์ใหม่นี้จะรวมเอา GPS ไว้ในเครื่องเดียวกัน ซึ่งหน้าจอจะเสดงข้อมูลรายละเอียด ค่าบริการ (ค่ามิเตอร์ ค่าทางด่วน ค่าบริการจากสนามบิน) ไว้ครบถ้วน รวมถึงระยะเวลาการวิ่ง ระยะเวลารถติด และพิมพ์ใบเสร็จพร้อมรายละเอียด วัน เวลา ทะเบียนรถ ชื่อคนขับ ซึ่งผู้โดยสารจะได้รับความคุ้มครอง ไม่ถูกเอาเปรียบแน่นอน และหากได้รับอนุญาตจากกรมการขนส่งฯ ทางกลุ่มสหกรณ์ฯ จะมีแอปพลิเคชันให้ผู้โดยสารดาวน์โหลดเพื่อเรียกใช้บริการผ่านมือถือ โดยจะมีศูนย์กลางควบคุมการบริหารจัดการรถแท็กซี่ ซึ่งคนขับจะไม่สามารถติดต่อโดยตรงกับผู้โดยสาร และไม่มีเบอร์โทรศัพท์ของผู้เรียกใช้บริการ ซึ่งเป็นการป้องกันและปกป้องข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้บริการ
โดยมิเตอร์ใหม่ที่รวม GPS ไว้ด้วยมีต้นทุนที่ 40,000 บาท ค่าบริการรายเดือน 250-300 บาท ซึ่งต่ำกว่ามิเตอร์ในปัจจุบันที่มีราคาเครื่องมิเตอร์ที่ 6,500 บาท มีค่าเครื่อง GPS 8,000 บาท ค่าบริการรายเดือน 250 บาท/เดือน วิทยุสื่อสารราคา 25,000 บาท ค่าบริการรายเดือน 300 บาท/เดือน โดยมั่นใจว่ามิเตอร์ระบบใหม่จะช่วยให้ผู้โดยสารได้รับความเป็นธรรมและปลอดภัยในการใช้บริการมากขึ้น เป็นการยกระดับแท็กซี่ของประเทศไทย