xs
xsm
sm
md
lg

ทุนใหญ่เทกฯ ทีวีดิจิตอล จับตาเหยื่อรายต่อไป

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายเจริญ สิริวัฒนภักดี
การเปลี่ยนแปลงและความเคลื่อนไหวของสถานี ทีวีดิจิตอล ในสัปดาห์ที่ผ่านมา เป็นสิ่งชี้ชัดถึงสถานการณ์ของทีวีดิจิตอลว่าอยู่ในภาวะลำบาก โดยเฉพาะประเด็นของเงินทุน ต้นทุน และการแสวงหาความอยู่รอดบนความแตกต่าง

สองปรากฏการณ์อย่างสถานีสปริงนิวส์ เป็นพันธมิตรกับสถานี CNN และกรณีที่ฮือฮาของค่ายอมรินทร์ ที่เพิ่มทุนขายเฉพาะเจาะจงให้แก่ตระกูลสิริวัฒนภักดี

แหล่งข่าวจากวงการสื่อทีวีให้ความเห็นว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่อยู่นอกเหนือความคาดหมายอยู่แล้ว และใน 2-3 ปีจากนี้จะเกิดเหตุการณ์เหล่านี้คือ การคืบคลานของกลุ่มทุนใหญ่เงินหนาที่จะเข้ามาซื้อหุ้นในกลุ่มบริษัทที่ถือไลเซนส์ทำทีวีดิจิตอลอยู่เดิมมากขึ้นอีก เนื่องจากปัญหาและอุปสรรคหลักของทีวีดิจิตอลตอนนี้คือ 1. ต้นทุนการจัดการที่สูงมาก และ 2. การขาดแหล่งเงินทุนดำเนินกิจการ เพราะปีหน้า (2560) ผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลจะต้องชำระค่าธรรมเนียมงวดที่ 4 อีกแล้ว ซึ่งแต่ละรายวงเงินจ่ายก็จะไม่เท่ากันแล้วแต่เงื่อนไขของประเภทช่อง โดยค่ายอมรินทร์ประมูลทีวีดิจิตอลมาในวงเงิน 3,320 ล้านบาท

แหล่งข่าววิเคราะห์ว่า ปัจจัยลบหลักที่ทำให้ทีวีดิจิตอลต้องเร่งหาทุนเข้ามาเสริมทัพ คือ 1.เทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็วต้องลงทุตลอด 2.คอนเทนต์ที่จะต้องแตกต่างและต้นทุนต่ำที่สุด 3.สายป่านไม่ยาวพอ และยังมีปัจจัยเสริม เช่น เรื่องของกฎหมาย และผู้กำกับกฎหมายที่ผ่านมาไม่เข้าใจกับเรื่องทีวีดิจิตอล และไม่สามารถทำตามแผนงานได้

ก่อนหน้านี้ ด้วยปัญหาของค่าธรรมเนียมที่สูงลิ่ว ทั้งๆ ที่ผู้ประกอบการเองก็รู้อยู่แล้วทำให้หลายช่องต้องสะดุดเพราเงินไม่ถึง กระทั่งค่ายไทยทีวีของเจ๊ติ๋ม ก็ต้องถอดใจเลิกทำไปแล้ว 2 ช่อง ล่าสุดก็คือ กรณีอมรินทร์ที่ให้ตระกูลสิริวัฒนภักดีเข้ามาคุมหุ้น แม้ว่าที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จะพยายามหาทางช่วยเหลือและผ่อนหนักเป็นเบาจากเดิมต้องจ่ายรายปีเฉลี่ย 2% ของรายได้ เช่น เมื่อช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมามีแนวคิดออกมาตรการต่างๆ เช่น การกำหนดเป็นขั้นบันไดของรายได้ แบ่งเป็น 5 ระดับ ได้แก่ 1.รายได้ 0-5 ล้านบาทแรก อัตราค่าธรรมเนียม 0.50% ของรายได้ 2.รายได้ส่วนที่เกินกว่า 5 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 50 ล้านบาท อัตราค่าธรรมเนียม 0.75% ของรายได้ 3.รายได้ส่วนที่เกิน 50 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 500 ล้านบาท อัตราค่าธรรมเนียม 1% ของรายได้ 4.รายได้ส่วนที่เกินกว่า 500 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 1,000 ล้านบาท อัตราค่าธรรมเนียม 1.75% ของรายได้ และ 5.รายได้ส่วนที่เกิน 1,000 ล้านบาทขึ้นไป อัตราค่าธรรมเนียม 2% ของรายได้ หรือแม้แต่การเสนอเลื่อนระยะเวลาการชำระค่าประมูลทีวีดิจิตอลงวดที่ 4 ออกไปอีก 1-2 ปี จากเดิมต้องชำระ พฤษภาคม 2560

ที่ผ่านมา ผู้ประกอบการชำระค่าธรรมเนียมแล้ว 3 งวด รวม 27,580 ล้านบาท หรือสัดส่วน 60% ของทั้งหมดที่มีวงเงินประมูลยู่ที่ 50,862 ล้านบาท

“อัมรินทร์” สะดุดเงินทุน

กรณีของ บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ AMARIN เลือกวิธีการหาทุนใหม่เข้ามาปิดจุดบอด เพราะทุนเก่าอาจจะไม่เพียงพอแล้ว ด้วยการเพิ่มทุนจำนวน 200 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1 บาท เสนอขายแบบเฉพาะเจาะจงให้ บริษัท วัฒนภักดี จำกัด โดย นายฐาปนะ สิริวัฒนภักดี และ นายประปณต สิริวัฒนภักดี ในราคาหุ้นละ 4.25 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 850 ล้านบาท ซึ่งภายหลังการซื้อหุ้นดังกล่าว ผู้ซื้อจะถือหุ้น 47.62% ของทุนจดทะเบียนทั้งหมด

สาเหตุของการเสนอขายหุ้นดังกล่าว นางเมตตา อุทกะพันธุ์ ประธานกรรมการ บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ AMARIN ย้ำว่า เพราะบริษัทฯ ขาดทุนจากการดำเนินงานช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องทางการเงินที่ ตลอดจนอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (Debt to Equity) ณ วันที่ 30 ก.ย. 59 ของบริษัทมีอัตราที่สูงเท่ากับ 4.32 เท่า จึงมีความจำเป็นต้องใช้เงินทุนที่จะได้รับจากการเพิ่มทุนในครั้งนี้เพื่อการลงทุนเพิ่มเติมในธุรกิจทีวีดิจิตอล ซึ่งมีต้นทุนสูง ชำระค่าใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ การชำระค่าบริการโครงข่ายทีวีดิจิตอลรายเดือน การชำระคืนเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงิน และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนที่ใช้ในดำเนินธุรกิจ โดยมีแผนใช้เงินเพิ่มทุนนี้ช่วงต้นปี2561

“ธุรกิจทีวีดิจิตอลมีการแข่งขันสูง บริษัทฯ จึงเห็นว่าการที่จะมีพันธมิตรทางธุรกิจที่มีความพร้อมในด้านเงินทุน และมีความเชี่ยวชาญในการดำเนินธุรกิจ รวมถึงมีสถานะทางการเงิน และสายสัมพันธ์ที่ดีกับกลุ่มธุรกิจที่หลากหลาย จะทำให้บริษัทได้รับเงินตามจำนวนที่ต้องการ”

ทั้งนี้ นางระริน อุทกะพันธุ์ ปัญจรุ่งโรจน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ AMARIN ก็ได้กล่าวยอมรับว่า การแข่งขันของอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์มีการเปลี่ยนแปลง และธุรกิจดิจิตอลทีวีมีการแข่งขันสูง ทำให้บริษัทต้องลงทุนเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ และบริการต่างๆ อย่างต่อเนื่อง

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ปี 2557-2559 อมรินทร์ฯ ขาดทุนมากรวม 2 ปี 3 ไตรมาส ขาดทุนไปถึง 950 ล้านบาท ราคาหุ้นตกลงเหลือ 1 ใน 3 จากปี 2556 หนี้สินสะสมรวม 4,000 ล้านบาท กระแสเงินสดลดต่ำเหลือเพียง 291 ล้านบาท แต่มีหนี้เงินกู้ระยะสั้นและเงินเบิกเกินบัญชี (OD) ถึง 550 ล้านบาท

ขณะที่อมรินทร์ทีวีก็ยังไม่ประสบความสำเร็จมากนัก หากดูจากเรตติ้งยังคงอยู่ในระดับกลุ่มล่าง และรายได้โฆษณายังต่ำ โดยข้อมูลจากเอจีบีนีลสันประจำเดือนกันยายน 59 ระบุว่า ในแง่ทั้งประเทศ อัมรินทร์อยู่อันดับที่ 10 มีเรตติ้ง 0.24 ส่วนหากเป็นพื้นที่กรุงเทพ อัมรินทร์ทีวีอยู่อันดับที่ 11 มีเรตติ้ง 1.87

ทั้งนี้ สนพ.อมรินทร์ ก่อตั้งโดยนายชูเกียรติ อุทกะพันธุ์ นักคิดนักเขียนยุค 14 ตุลาคม 16 เริ่มจากการผลิตนิตยสารบ้านและสวน ต่อมาประสบความสำเร็จกับนิตยสารแฟชัน “แพรว” และแฟชั่นวัยรุ่น “แพรวสุดสัปดาห์” อมรินทร์เติบโตมา ด้วยพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้เป็นสำนักพิมพ์ที่จัดพิมพ์พระราชนิพนธ์หลายเรื่อง เช่น ติโต นายอินทร์ผู้ปิดทองหลังพระ พระมหาชนก และเรื่องทองแดง และได้เข้าตลาดหลักทรัพย์เมื่อ 3 มกราคม 2535 ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ และสมเด็จพระเทพฯ ทรงถือหุ้นส่วนหนึ่งใน สนพ.อมรินทร์ (1.58% และ 0.63%) ตามลำดับ ซึ่งร้านหนังสือ “นายอินทร์” ของอมรินทร์ ได้รับพระราชทานชื่อจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ ที่มาจากพระราชนิพนธ์เรื่อง “นายอินทร์ผู้ปิดทองหลังพระ” (The Man called intrepid)

คนวงในมองว่า แม้ ตระกูลสิริวัฒนภักดี จะยังคงเปิดโอกาสให้ผู้บริหารชุดเดิมบริหารต่อไป แต่คาดว่าจะต้องมีแผนงานการปรับลดค่าใช้จ่ายและลดต้นทุนและปรับโครงสร้างใหญ่ในบริษัท อมรินทร์ จากนี้ไปแน่นอน และจะส่งบุคคลเข้ามาเป็นกรรมการบริษัทฯ จำนวนไม่เกิน 3 คน เพราะเมื่อซื้อหุ้นแล้วย่อมต้องมองถึงผลประโยชน์ที่จะได้รับแน่นอน โดยมีการปรับยุทธศาสตร์ใหม่เพื่อให้เอื้อต่อธุรกิจเครือข่ายที่มีอยู่ทั้งหมดซึ่งจะกลายเป็นกลุ่มทุนที่มีสื่อในมือมากมาย อย่างน้อยก็เทียบเท่ากับตระกูลเจียรวนนท์ เจ้าของทรู-ซีพี รวมถึงเครือข่ายลอจิสติกส์หนังสือและหน้าร้านหนังสือนายอินทร์กว่า 160 สาขาทั่วประเทศ ยังไม่นับรวมกับเครือข่ายร้านหนังสือเอเซียบุ๊กส์ ที่เจ้าสัวเจริญไปเทกโอเวอร์มาก่อนหน้านี้หลายปีแล้ว

“ตระกูลสิริวัฒนภักดีเข้ามาซื้อหุ้นได้ ไม่ผิดกฎข้อบังคับ เพราะไม่ได้เป็นผู้ถือไลเซ่นส์เดิมหรือมีส่วนได้ส่วนเสียกับบริษัทอื่นที่ทำทีวีดิตอลอยู่แล้ว และถือเป็นเรื่องที่ดี วิน-วินด้วยกันทั้งสองฝ่าย เพราะอมรินทร์ก็จะอยู่รอดทำทีวีดิจิตอลต่อไปพร้อมสื่ออื่นและงานอีเวนต์ใหญ่ที่ชื่อ บ้านและสวน ขณะที่ตระกูลสิริวัฒนภักดีก็จะมีสื่อในมือมากขึ้น และเป็นการขยายสู่ธุรกิจครั้งใหม่ที่แตกต่างจากฐานเดิม” แหล่งข่าวกล่าว
นายธนาชัย ธีรพัฒนวงศ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท สปริงนิวส์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด
“สปริงนิวส์” อิง CNN ลดต้นทุน

ส่วนกรณีของ สถานีสปริงนิวส์ แม้จะยังไม่ถึงขั้นการหาทุนใหม่เข้ามา แต่ก็เลือกใช้กลยุทธ์พันธมิตรทางธุรกิจกับสำนักข่าวระดับโลกอย่างซีเอ็นเอ็น (CNN) เพื่อลดต้นทุนและขยายฐานทางธุรกิจ

นายธนาชัย ธีรพัฒนวงศ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท สปริงนิวส์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ผู้บริหารสถานีโทรทัศน์ดิจิตอล “SPRING NEWS ช่อง 19” กล่าวว่า การร่วมเป็นพันธมิตรกับสถานีข่าวโทรทัศน์ CNN จะทำให้ “สปริงนิวส์” สามารถออกอากาศรายการและเนื้อหาจากสถานีโทรทัศน์ CNN บรรยายข้อความใต้ภาพเป็นภาษาไทย ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2560 เพิ่มศักยภาพของ “สปริงนิวส์” ในอุตสาหกรรมทีวีดิจิตอลและก้าวสู่ความเป็นสถานีข่าวอันดับหนึ่งของประเทศไทย

สถานการณ์ทีวีดิจิตอลของไทยแข่งขันรุนแรง โดยเฉพาะเรื่องคอนเทนต์ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญ ซึ่งผู้ประกอบการที่กำหนดจุดยืนทางการตลาดว่าเป็นสถานีข่าวนั้นมีประมาณ 6 ช่อง “สปริงนิวส์” จึงต้องพยายามสร้างความแตกต่าง

ความร่วมมือครั้งนี้มีการเจรจามาอย่างต่อเนื่อง แต่เพิ่งจะสรุปรายละเอียดต่างๆ เมื่อ 5 เดือนที่ผ่านมา ทำให้ “สปริงนิวส์” เป็นสถานีโทรทัศน์แห่งแรกในเอเชียที่เป็นพันธมิตรในด้านต่างๆ กับ CNN อย่างเป็นทางการ เป็นเวลา 5 ปี โดย CNN ยังจะเป็นที่ปรึกษา จัดฝึกอบรมให้เจ้าหน้าที่ และสามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลของ “สปริงนิวส์” เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งด้านการรายงานข่าวของ CNN ในประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ถือเป็นการลดต้นทุนดำเนินการได้อย่างดี เพราะทีวีดิจิตอลมีค่าใช้จ่ายมากโดยเฉพาะเรื่องขอต้นทุนค่าธรรมเนียม

“เป็นการลงทุนด้านการพัฒนาคอนเทนต์รายการข่าว เทคโนโลยีการนำเสนอ ตลอดจนบุคลากรของสปริงนิวส์เพื่อเป็นการยกระดับของสถานีฯ เช่น ข่าวเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาที่ผ่านมา ซึ่งบางพื้นที่มีการจำกัดสิทธิ์ผู้สื่อข่าวต่างประเทศ แต่ผู้สื่อข่าวสปริงนิวส์สามารถเข้าไปรายงานข่าวได้โดยใช้สิทธิ์ของสถานีโทรทัศน์ CNN ”

นายธนาชัยกล่าวอีกว่า แม้ว่าปัจจุบันผู้ชมในไทยจะรับชมรายการของสถานี CNN ได้ทางสถานี “ทรูวิชั่นส์” ซึ่งถือเป็นคู่สัญญาของ CNN ในประเทศไทย แต่ก็มีข้อจำกัดด้านเวลาการนำเสนอรายการบางรายการ ณ เวลาจริง ซึ่งเป็นช่วงไพรม์ไทม์ของประเทศสหรัฐอเมริกา แต่ตรงกับช่วงเวลากลางคืนของประเทศไทย ไม่มีบรรยายภาษาไทย และต้องชำระค่าบริการรับชมตามแพกเกจของ “ทรูวิชั่นส์”

แต่สำหรับการร่วมมือกับ “สปริงนิวส์” นี้ นอกจากนำเสนอรายการตามเวลาจริงแล้ว ยังสามารถนำกลับมาเผยแพร่ซ้ำได้ตลอดเวลา จึงทำให้ผู้ชม “สปริงนิวส์” สามารถรับชมรายการเด่นของ CNN ผ่านพิธีกรชื่อดัง เช่น “แอนเดอร์สัน คูเปอร์” หรือพิธีกรผู้มีเอกลักษณ์โดดเด่นคือ “ริชาร์ด เควสท์” และอื่นๆ รวมถึงรายการข่าว Breaking News ซึ่งมีมากถึง 30-40 ครั้งต่อวัน

“นับจากวันที่ 1 ม.ค. 2560 การทำงานของสปริงนิวส์ และ CNN จะเชื่อมโยงกันทุกด้าน เพื่อให้ผู้ชมกว่า 10 ล้านครัวเรือนในไทยได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่” นายธนาชัยกล่าว

แหล่งข่าวจากวงการสื่อสรุปว่า ทั้งสองเหตุการณ์นี้แม้จะต่างเรื่องราวแต่ก็ชี้ชัดว่าทีวีดิจิตอลแข่งขันกันหนักหน่วง ใครไม่พร้อมเรื่องเงินทุนและด้อยเรื่องคอนเทนต์จะอยู่ยากขึ้นเรื่อยๆ ต้องจับตาดูกันต่อไปว่าใครจะเป็นเหยื่อรายต่อไปที่ไปไม่รอด แล้วต้องเปิดทางให้กลุ่มทุนใหญ่เข้ามาครอบกิจการแทน


>
กำลังโหลดความคิดเห็น