ส่งออก ต.ค.ลดลง 4.22% พลิกกลับมาติดลบอีกครั้งในรอบ 2 เดือน เหตุสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันส่งออกไม่กระเตื้อง แถมหลายกลุ่มยังส่งออกลดลงอีก แต่ยังมั่นใจการส่งออกทั้งปีจะขยายตัวอยู่ในแดน 0% ถึงบวกเล็กน้อย
น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า การส่งออกสินค้าไทยเดือน ต.ค. 2559 มีมูลค่า 17,783.1 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 4.22% ซึ่งเป็นการกลับมาติดลบอีกครั้งในรอบ 2 เดือน นับจากเดือน ส.ค.ที่การส่งออกเป็นบวก 6.54% และ ก.ย.บวก 3.43% ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 17,534.9 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 6.5% ส่งผลให้ไทยเกินดุลการค้ามูลค่า 248.2 ล้านเหรียญสหรัฐ
ทั้งนี้ การส่งออกในเดือน ต.ค. หากหักสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันและทองคำออกไปจะติดลบเพียง 2.8% แต่หากหักสินค้าเฉพาะที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน จะติดลบ 3.6% และหากหักเฉพาะสินค้าที่เกี่ยวข้องกับทองคำออกจะติดลบ 3.5%
สำหรับการส่งออกในช่วง 10 เดือน ของปี 2559 (ม.ค.-ต.ค.) มีมูลค่า 178,250.9 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 1.02% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ส่วนการนำเข้าช่วง 10 เดือน มีมูลค่า 160,073.0 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 5.93% ส่งผลให้ไทยเกินดุลการค้าช่วง 10 เดือน มูลค่า 18,177.8 ล้านเหรียญสหรัฐ
“สาเหตุสำคัญที่ทำให้การส่งออกในเดือน ต.ค. กลับมาติดลบอีก เนื่องจากการส่งออกสินค้าทองคำและสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันส่งออกได้ลดลง จากราคาน้ำมันดิบที่ยังมีราคาทรงตัวในระดับต่ำ รวมทั้งภาวะเศรษฐกิจโลกยังมีความผันผวน และสินค้าส่งออกสำคัญหลายรายการส่งออกได้ลดลง ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มยานยนต์ คอมพิวเตอร์ แผงวงจรไฟฟ้า เป็นต้น”
น.ส.พิมพ์ชนกกล่าวว่า เมื่อดูรายละเอียดการส่งออกของเดือนต.ค. พบว่ากลุ่มสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร กลับมาหดตัวอีกครั้ง หลังขยายตัวสูงสุดในรอบ 2 ปี เมื่อเดือนก.ย.ที่ผ่านมา โดยลดลง 8.1% โดยสินค้าสำคัญที่ส่งออกลดลง เช่น น้ำตาลทราย ข้าว ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง และยางพารา ลดลง 52.6%, 24.4%, 22.9% และ 5.0% แต่ผัก ผลไม้สดแช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป กุ้งสดแช่แข็งและแปรรูป อาหารสัตว์เลี้ยง ยังคงเพิ่มขึ้น 17.6%, 10.0%, 12.5% และ 9.5%
ส่วนสินค้าอุตสาหกรรมกลับมาลดลงครั้งแรกในรอบ 3 เดือน โดยลดลง 2.7% สินค้าสำคัญที่ส่งออกได้ลดลง เช่น น้ำมันสำเร็จรูป คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ ทองคำ รถยนต์และส่วนประกอบ เหล็ก วิทยุและโทรทัศน์และส่วนประกอบ ลดลง 27.6%, 9.3%, 40.0%, 5.8% และ 52.4% ขณะที่เคมีภัณฑ์ อุปกรณ์กึ่งตัวนำทรานซิสเตอร์/ไดโอด เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องยนต์สันดาปภายใน โทรศัพท์และอุปกรณ์ เพิ่มขึ้น 17.1%, 87.0%, 10.0%, 19.7% และ 26.2%
ทางด้านตลาดส่งออก ส่วนใหญ่ขยายตัวลดลง โดยสหรัฐฯ ลดลง 4.7% ยูโรโซน ลดลง 9.2% อาเซียน ลด 0.5% ฮ่องกง ลด 6.6% เกาหลีใต้ ลด 3.5% ทวีปออสเตรเลีย ลด 11% ตะวันออกกลาง ลด 24.7% แอฟริกา ลด 18.8% กลุ่ม CIS รวมรัสเซีย ลด 12.7% สวิตเซอร์แลนด์ ลด 76.8% ส่วนตลาดส่งออกที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น เช่น ญี่ปุ่น เพิ่ม 8.9% CLMV เพิ่ม 3.6% จีน เพิ่ม 4.4% เอเชียใต้ เพิ่ม 5.5% ไต้หวัน เพิ่ม 0.5% ละตินอเมริกา เพิ่ม 8.7%
น.ส.พิมพ์ชนกกล่าวว่า สำนักงานฯ ยังคงคาดการณ์ว่าการส่งออกทั้งปี 2559 จะไม่ติดลบ โดยอยู่ในระดับ 0% ถึงแดนบวก โดยถ้าการส่งออกในช่วง 2 เดือนที่เหลือสามารถส่งออกรวมกันได้ 3.6 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ หรือเดือนละ 1.81 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ จะทำให้การส่งออกทั้งปีขยายตัว 0% แต่ถ้าส่งออกได้มากกว่านี้ ก็จะขยายตัวเป็นบวกเล็กน้อย และถ้าต่ำกว่านี้ ชก็จะขยายตัวติดลบ