xs
xsm
sm
md
lg

จ่อบังคับอาคารสร้างใหม่หรือดัดแปลงต้องใช้เกณฑ์ประหยัดพลังงานปี 60

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


พพ.มอบฉลากรับรองมาตรฐาน กระตุ้นภาครัฐ-เอกชนออกแบบอาคารประหยัดพลังงาน พร้อมบูรณาการกรมโยธาธิการและผังเมือง เคาะเกณฑ์อาคารประหยัดพลังงานนำร่องอาคารขนาดพื้นที่ 10,000 ตร.ม.ขึ้นไป เล็งบังคับใช้ปี 60 คาดเกิดผลประหยัดไฟฟ้า 74 ล้านหน่วยต่อปี หรือ 260 ล้านบาทต่อปี

พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการ
กระทรวงพลังงาน
เปิดเผยภายหลังเป็นประธานมอบฉลากรับรองมาตรฐานการออกแบบอาคารที่มีประสิทธิภาพพลังงานสำหรับอาคารใหม่ ว่าการบังคับใช้เกณฑ์การออกแบบอาคารใหม่ด้านพลังงาน (Building Energy Code) คาดว่าจะสามารถเสนอคณะกรรมการควบคุมอาคารได้ภายในเดือน พ.ย. 2559 นี้ เบื้องต้นจะกำหนดให้อาคารที่จะขออนุญาตสร้างใหม่หรือดัดแปลงอาคารเพิ่มเติมที่มีขนาดตั้งแต่ 10,000 ตางรางเมตรขึ้นไป ครอบคลุมอาคาร 9 ประเภท ได้แก่ สถานพยาบาล สถานศึกษา สำนักงาน อาคารชุด อาคารชุมนุมคน โรงมหรสพ โรงแรม อาคารสถานบริการ และอาคารศูนย์การค้าหรือห้างสรรพสินค้าจะต้องออกแบบเพื่อการอนุรักษ์พลังงานโดยใช้เกณฑ์ BEC ดังกล่าว โดยคาดว่าจะมีผลบังคับในปี 2560 ซึ่งจะเกิดผลประหยัดไฟฟ้าประมาณ 74 ล้านหน่วยต่อปี หรือคิดเป็น 260 ล้านบาทต่อปี และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 43,000 ตันคาร์บอนต่อปี

นายประพนธ์ วงษ์ท่าเรือ อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน(พพ.) กล่าวว่า คณะกรรมการควบคุมอาคารอยู่ระหว่างพิจารณาร่างกฏกระทรวง กำหนดประเภท หรือขนาดของอาคารและมาตรฐาน หลักเกณฑ์และวิธีการในการออกแบบอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน เพื่อบังคับใช้กับอาคารที่จะขออนุญาตก่อสร้างใหม่หรือดัดแปลงอาคารเพิ่มเติมที่มีขนาดพื้นที่ตั้งแต่ 2,000 ตารางเมตรขึ้นไป แต่จะนำร่องกับอาคารขนาด 10,000 ตางรางเมตรขึ้นไปก่อน ส่วนปี 2561 จะเริ่มบังคับอาคารใหม่/ต่อเติม/ปรับปรุงที่มีขนาดพื้นที่ตั้งแต่ 5,000 ตางรางเมตรขึ้นไป และ ปี 2562 จะเป็นอาคารสร้างใหม่ที่มีพื้นที่เกิน 2,000 ตารางเมตร โดยเบื้องต้นคาดว่าอาจจะมีต้นทุนการก่อสร้างเพิ่มขึ้นไม่เกิน 5% ซึ่งจะสามารถคืนทุนได้ภายใน 3-5 ปี แต่ในภาพรวมจะส่งผลดีต่อการประหยัดพลังงานของประเทศที่ลดลงไปอย่างมีประสิทธิภาพ

ด้านการมอบรางวัลรับรองมาตรฐานอาคารฯ ในวันนี้ (21 พ.ย.) พพ.ได้พิจารณาจากแบบอาคารภาครัฐและเอกชนที่ส่งแบบอาคารมาตรวจประเมินตั้งแต่ปี 2552-2558 ซึ่งผลการตัดสินจากจำนวน 115 อาคารที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน แบ่งเป็นจากหน่วยงานภาครัฐ 76 แห่ง (105 อาคาร) และภาคเอกชน 8 แห่ง (10 อาคาร) พบว่า มีผู้ได้รับรางวัลฉลากแบบอาคารระดับดี 30 หน่วยงาน จากแบบอาคาร 46 แบบอาคาร ผู้ได้รับรางวัลฉลากแบบอาคารระดับดีมาก 24 หน่วยงาน จากแบบอาคาร 32 แบบอาคาร และผู้ได้รับฉลากแบบอาคารระดับดีเด่น 9 หน่วยงาน จากแบบอาคาร 9 แบบอาคาร

“การติดฉลากรับรองมาตรฐานการออกแบบอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน ในปี 2559 เป็นส่วนหนึ่งของการส่งเสริมและกระตุ้นให้ภาครัฐ เอกชน เห็นความสำคัญและดำเนินการออกแบบอาคารให้เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานการออกแบบอาคาร BEC โดยมาตรฐาน Building Energy Code ภายใต้แผนอนุรักษ์พลังงาน (EEP 2015) กำหนดเป้าหมายการดำเนินงานผลักดันให้อาคารที่ก่อสร้างใหม่มีการออกแบบอาคารให้เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐาน โดยจะมีผลการประหยัดพลังงานรวมจนถึงปี 2579 อยู่ที่ 13,686 กิกะวัตต์-ชั่วโมง หรือ 1,166 ตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ” นายประพนธ์กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น