“พาณิชย์” ยันส่งออกตลาดสหรัฐฯ ปีนี้ยังโต 1% ปีหน้า 3% เหมือนเดิม แม้ “ทรัมป์” ขึ้นเป็นประธานาธิบดี วิเคราะห์นโยบายลดภาษีธุรกิจ ดันจีดีพีโต ยิ่งจะเอื้อต่อการส่งออกของไทย
นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงฯ ยังคงยืนยันเป้าหมายมูลค่าการส่งออกของไทยไปตลาดสหรัฐฯ ขยายตัว 1% เท่าเดิม ส่วนปี 2560 ตั้งเป้าหมายขยายตัวที่ 3% เพราะเชื่อว่าการขึ้นเป็นประธานาธิบดีของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ในระยะสั้นจะไม่มีผลกระทบต่อการส่งออกของไทย เพราะจากการหารือกับกลุ่มผู้ส่งออกพบว่าสินค้ากลุ่มอาหารทั้งกุ้งสดแช่เย็นแช่แข็ง ทูน่ากระป๋อง ยังจะส่งออกได้เช่นเดิม และอาจจะเพิ่มขึ้นเพราะสหรัฐฯ ไม่ได้ผลิตกุ้ง และโรงงานทูน่าในสหรัฐฯ เพิ่งปิดตัวไป 2 แห่ง
ทั้งนี้ สหรัฐฯ เพิ่งประกาศคงการให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (จีเอสพี) สินค้าไทยเช่นเดิม ทำให้สินค้าไทยมีศักยภาพด้านการแข่งขันในตลาดสหรัฐฯ อยู่เช่นเดิม
“เบื้องต้นคงไม่สามารถประเมินอะไรได้มากไปกว่านี้ เพราะต้องรอดูการแถลงนโยบายต่อรัฐสภาก่อนจึงจะประเมินสถานการณ์ที่ชัดเจนได้ โดยได้มอบหมายให้ทูตพาณิชย์ติดตามการเปลี่ยนแปลงนโยบายการค้าของสหรัฐฯ อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับไทย”
อย่างไรก็ตาม แม้ตลาดสหรัฐฯ จะมีปัญหาในอนาคต แต่ภาคเอกชนของไทยได้มีการเตรียมพร้อมปรับตัว เพื่อรองรับกับทุกสถานการณ์ได้อยู่แล้ว และที่ผ่านมาได้มีการกระจายความเสี่ยงจากการส่งออกไปยังตลาดใหม่ๆ เพิ่มขึ้น ทั้งแอฟริกา เอเชีย อาเซียน อิหร่าน อินเดีย รัสเซีย
นางอภิรดีกล่าวว่า สำหรับข้อตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (ทีพีพี) ไทยยังไม่ได้ตัดสินใจเข้าร่วมการเจรจา ถือเป็นโอกาสดีที่จะมีเวลาศึกษาข้อดีและข้อเสียมากขึ้น ส่วนนโยบายการหาเสียงของนายทรัมป์ ที่เน้นการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาของสหรัฐฯ และอาจมีผลต่อการเลื่อนสถานะของไทย ภายใต้กฎหมายการค้าสหรัฐฯ มาตรา 301 พิเศษ ที่ปัจจุบันไทยอยู่ในบัญชีประเทศที่ถูกจับตามองเป็นพิเศษด้านทรัพย์สินทางปัญญา (พีดับเบิลยูแอล) หรือไม่นั้น ไม่น่าจะมีผลกระทบต่อไทย เพราะที่ผ่านมาไทยปราบปรามและป้องกันการละเมิดอย่างเต็มที่อยู่แล้ว
นางมาลี โชคล้ำเลิศ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า จากการที่กรมฯ ได้วิเคราะห์นโยบายการหาเสียงของนายทรัมป์ พบว่า นโยบายบางอย่างจะเป็นประโยชน์ต่อการส่งออกและการลงทุนของไทย เช่น นโยบายการลดภาษีภาคธุรกิจ ซึ่งจะทำให้ภาคธุรกิจมีเงินเหลือมากขึ้น และซื้อสินค้าได้เพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับการผลักดันให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศขยายตัวได้ 3.5% จะส่งผลให้มีความต้องการซื้อสินค้าเพิ่มขึ้นด้วย ส่วนนโยบายดึงการลงทุนของสหรัฐฯ ในต่างประเทศกลับเข้าสู่ประเทศนั้นจะส่งผลดีต่อการลงทุนของไทยในสหรัฐฯ ด้วย
ขณะที่นโยบายที่อาจกระทบต่อไทย เช่น การให้ความสำคัญต่อทรัพย์สินทางปัญญา แต่ไทยได้กำหนดยุทธศาสตร์ทรัพย์สินทางปัญญาทั้งระบบเพื่อป้องกันการละเมิด ส่งเสริมให้คนไทยสร้างสรรค์ผลงานทรัพย์สินทางปัญญา และใช้ประโยชน์ให้มากขึ้นแล้วจึงไม่น่าได้รับผลกระทบมากนัก