xs
xsm
sm
md
lg

“พาณิชย์” เพิ่มรายการ “ค่าเน็ต-โทร.มือถือ-อาหารปรุงสำเร็จ” ใช้คำนวณเงินเฟ้อ สะท้อนค่าใช้จ่ายผู้บริโภคยุคใหม่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“พาณิชย์” เพิ่มน้ำหนักค่าบริการอินเทอร์เน็ต ค่าโทรศัพท์มือถือ และอาหารปรุงสำเร็จ ในการคำนวณเงินเฟ้อ เพื่อให้สะท้อนค่าใช้จ่ายของผู้บริโภคยุคใหม่

น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์จะทำการปรับปรุงโครงสร้างรายการสินค้าที่นำมาใช้ในการคำนวณอัตราเงินเฟ้อใหม่ เพื่อให้สะท้อนถึงพฤติกรรมการใช้จ่ายของประชาชนในยุคปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไป โดยจะเพิ่มน้ำหนักการคำนวณค่าใช้จ่ายที่มาจากค่าบริการอินเทอร์เน็ตในบ้าน ค่าบริการโทรศัพท์มือถือ และอาหารปรุงสำเร็จ เพิ่มเข้ามาใช้ในการคำนวณน้ำหนักของเงินเฟ้อมากขึ้น คาดว่าจะสามารถปรับปรุงระบบการคำนวณใหม่และนำมาใช้ได้ภายในเดือน ม.ค. 2560

“ทุกวันนี้การใช้อินเทอร์เน็ต ค่าบริการโทรศัพท์มือถือ ได้เข้ามามีบทบาทมากขึ้นในชีวิตประจำวัน จึงต้องมีการเพิ่มน้ำหนักรายการนี้เข้าไปในตะกร้าคำนวณเงินเฟ้อ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์การใช้จ่ายจริงของคนไทยในยุคปัจจุบัน”

ทั้งนี้ ยังมีแผนทบทวนรายการสินค้าที่ใช้ในการคำนวณเงินเฟ้อ โดยจะลดรายการสินค้าที่ใช้คำนวณจากเดิม 450 รายการ ลงเหลือประมาณ 300 รายการ โดยตัดรายการที่ซ้ำกัน หรือรายการที่มีการเก็บข้อมูลซ้ำๆ กันออกไป หรือรายการที่ไม่ค่อยมีความเคลื่อนไหวในการใช้และบริโภค เช่น ตะปู บานพับ เป็นต้น

น.ส.พิมพ์ชนกกล่าวว่า กระทรวงฯ ได้เตรียมจัดทำดัชนีความเท่าเทียมกัน (Purchasing Power Parity index : PPP) ในแต่ละจังหวัด เพื่อเป็นข้อมูลให้ภาครัฐและเอกชนนำมาใช้ในการกำหนดนโยบายและมาตรการในการช่วยเหลือชุมชนให้เหมาะสมกับประชาชนในท้องถิ่น เช่น การกำหนดอัตราค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ ซึ่งดัชนีความเท่าเทียมกันจะคำนวณข้อมูลจากรายการสินค้าอุปโภคบริโภค สินค้าของขวัญที่ขายในแต่ละจังหวัดนำมาเปรียบเทียบกัน โดยดัชนีความเท่าเทียมกันได้เริ่มเก็บข้อมูลใน 43 จังหวัดแล้ว และจะขยายให้ครบ 77 จังหวัดภายในต้นปีหน้า
กำลังโหลดความคิดเห็น