ดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน ต.ค.ปรับตัวลดลงทุกรายการครั้งแรกในรอบ 4 เดือน หลังราคาสินค้าเกษตรฉุดกำลังซื้อทั้งประเทศ ค่าครองชีพสูง รายได้ไม่สอดคล้องรายจ่าย กังวลเศรษฐกิจไทยและโลกยังฟื้นตัวไม่มากนัก แต่คาดบริโภคไตรมาส 1 ปีหน้าฟื้นตัวแน่หากเศรษฐกิจโลกคลี่คลาย รัฐเบิกจ่ายงบกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นรูปธรรม
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่สำรวจจากกลุ่มตัวอย่างประชาชนทั่วประเทศ 2,243 คน ในเดือน ต.ค. 2559 ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นทุกรายการปรับตัวลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 4 เดือน นับจากเดือน ก.ค. 2559 โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคอยู่ที่ระดับ 73.1 ลดจาก 74.2 ในเดือน ก.ย. 2559 ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในปัจจุบันอยู่ที่ 52.0 ลดจาก 53.2 และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในอนาคต อยู่ที่ 81.6 ลดจาก 82.7 ส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ 62.0 ลดจาก 63.4 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสในการหางานอยู่ที่ 67.5 ลดจาก 68.6 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ 89.6 ลดจาก 90.7
สาเหตุที่ทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวลดลงมาจากราคาพืชผลทางการเกษตรหลายชนิดอยู่ในระดับต่ำ โดยเฉพาะข้าวเปลือก ส่งผลกระทบต่อรายได้ของเกษตรกร และกระทบกำลังซื้อในต่างจังหวัด, ระดับราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศเพิ่มขึ้น, ผู้บริโภคกังวลเกี่ยวกับปัญหาค่าครองชีพ และราคาสินค้าทรงตัวในระดับสูง รวมถึงกังวลว่ารายได้ในปัจจุบันไม่สอดคล้องกับค่าครองชีพที่สูงขึ้น, ความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำท่วมในบางพื้นที่ที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต การท่องเที่ยว ผลผลิตทางการเกษตร และโอกาสในการทำธุรกิจ รวมถึงความกังวลเกี่ยวกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่แน่นอน และอาจกระทบต่อการส่งออกและเศรษฐกิจในอนาคต
“ดัชนีทุกรายการลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 4 เดือน เพราะประชาชนกังวลเกี่ยวกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย และเศรษฐกิจโลกในปัจจุบันและในอนาคตที่ยังปรับตัวดีขึ้นไม่มากเท่าที่ควร ประกอบการราคาพืชผลทางการเกษตรในปัจจุบันและอนาคตยังอยู่ในระดับต่ำ โดยเฉพาะข้าวเปลือก ที่กระทบต่ออำนาจซื้อของประชาชนทั่วประเทศ จึงบั่นทอนความเชื่อมั่นผู้บริโภคทั้งในปัจจุบัน และอนาคต” นายธนวรรธน์กล่าว
ทั้งนี้ ศูนย์ฯ คาดว่าการบริโภคของภาคประชาชนจะยังไม่ฟื้นตัวมากนักในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ เพราะผู้บริโภคยังระมัดระวังการจับจ่ายใช้สอย เนื่องจากยังกังวลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในปัจจุบันและอนาคต แต่เชื่อว่าการฟื้นตัวของการบริโภคจะค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้นในช่วงต้นไตรมาส 1 ของปีหน้าเป็นต้นไป หากสถานการณ์ความผันผวนของเศรษฐกิจโลกคลี่คลายลง และประสิทธิภาพของการใช้จ่ายและการลงทุนของภาครัฐ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม