xs
xsm
sm
md
lg

ดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน ก.ย.ปรับตัวดีขึ้นเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน หลังคนเชื่อเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน ก.ย.ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน หลังส่งออกฟื้นตัวกลับมาเป็นบวก แนวโน้มเศรษฐกิจฟื้น รัฐเร่งเบิกจ่ายและกระตุ้นการลงทุน เผยคนเริ่มกังวลปัญหาน้ำท่วม แต่เชื่อไม่รุนแรงเหมือนปี 54 คาดการบริโภคเริ่มฟื้นตัวชัดตั้งแต่ไตรมาส 4 เป็นต้นไป

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน ก.ย. 2559 อยู่ที่ระดับ 74.2 เพิ่มขึ้นจาก 73.2 ในเดือน ส.ค. 2559 ซึ่งเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในปัจจุบันอยู่ที่ 53.2 เพิ่มขึ้นจาก 52.3 และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในอนาคตอยู่ที่ 82.7 เพิ่มขึ้นจาก 81.6 ส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ 63.4 เพิ่มขึ้นจาก 62.2 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสในการหางานอยู่ที่ 68.6 เพิ่มขึ้นจาก 67.6 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ 90.7 เพิ่มขึ้นจาก 89.7

สาเหตุที่ทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นปรับตัวเพิ่มขึ้น มาจากมูลค่าการส่งออกของไทยในเดือน ส.ค. 2559 เพิ่มขึ้น 6.54% เป็นบวกครั้งแรกในรอบ 5 เดือน คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.50% และได้ปรับเพิ่มการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยปี 2559 เป็น 3.2% จากเดิม 3.1% คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบต่ออายุการใช้ภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) ในอัตรา 7% ออกไปอีก 1 ปี ระดับราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศลดลง รัฐบาลเร่งใช้จ่ายเพื่อการลงทุน สถานการณ์ภัยแล้งคลี่คลาย ราคาสินค้าเกษตรหลายตัวปรับตัวสูงขึ้น ทำให้กำลังซื้อภาคเกษตรดีขึ้น

อย่างไรก็ตาม แม้ปัจจัยหลายตัวจะดีขึ้น ทำให้คนเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจไทยกำลังฟื้นตัวดีขึ้น แต่ประชาชนก็ยังกังวลเกี่ยวกับปัญหาน้ำท่วมที่จะกระทบต่อการดำเนินชีวิต การท่องเที่ยว และผลผลิตทางการเกษตร รวมถึงราคาสินค้าเกษตร ที่แม้จะปรับตัวดีขึ้น แต่ก็ยังทรงตัวในระดับต่ำ และยังมีความกังวลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่ชัดเจน ซึ่งอาจจะมีผลกระทบต่อการส่งออกและเศรษฐกิจไทย

“ความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำท่วมในปัจจุบันยังไม่รุนแรงมากนัก เพราะมีพื้นที่ได้รับผลกระทบเพียง 10 จังหวัด และไม่ได้อยู่ในพื้นที่เศรษฐกิจ แต่คงต้องติดตามผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นในเดือน ต.ค.ว่าจะรุนแรงขึ้นหรือไม่ โดยเชื่อว่ารัฐบาลจะบริหารจัดการได้ และความเสียหายไม่น่าจะเท่าน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 โดยความเสียหายน่าจะมีมูลค่าความเสียหายไม่เกินพันล้านบาท กระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ไม่เกิน 0.05%” นายธนวรรธน์กล่าว

นายธนวรรธน์กล่าวว่า แนวโน้มการบริโภคของภาคประชาชนน่าจะค่อยๆ ฟื้นตัวขึ้น เพราะมีความหวังว่าการใช้จ่ายและการลงทุนของภาครัฐจะเป็นตัวกระตุ้นเศรษฐกิจที่สำคัญในช่วงที่เหลือของปีนี้ โดยจะเริ่มเห็นชัดเจนตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 เป็นต้นไป และหากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกคลี่คลายลง และประสิทธิภาพการใช้จ่ายและลงทุนของภาครัฐทำได้ดี ก็จะทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม

สำหรับการจัดประชุมสุดยอดกรอบความร่วมมือเอเชีย (เอซีดี) ที่ไทยเป็นเจ้าภาพ ระหว่างวันที่ 8-10 ต.ค. 2559 และจะมีผู้นำ 38 ประเทศเข้าร่วมประชุม ถือเป็นโอกาสดีที่จะทำให้นานาประเทศรู้จักประเทศไทยมากขึ้น โดยไทยจะใช้เวทีนี้ประชาสัมพันธ์นโยบายไทยแลนด์ 4.0 และการเลือกตั้งในปี 2560 รวมถึงภาพลักษณ์การท่องเที่ยว ซึ่งจะช่วยผลักดันให้เศรษฐกิจไทยเติบโตถึงปีหน้า ประกอบกับรัฐบาลมีนโยบายชัดเจนในการตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจตะวันออก เชื่อว่าปัจจัยเหล่านี้จะดึงเม็ดเงินมาลงทุนในไทยมากขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น