“เสนาโซลาร์ เอ็นเนอร์ยี่” จ่อหาพันธมิตรรุกผลิตไฟฟ้าจากชีวมวลหลังนโยบายรัฐบาลเตรียมรับซื้อไฟฟ้าพลังงานทดแทนแบบผสมผสาน (Hybrid) โดยเล็งที่แสงอาทิตย์ผสมกับชีวมวล พร้อมรอยื่นขายไฟโซลาร์ฟาร์มสหกรณ์ ลุ้นโซลาร์รูฟเสรีระยะต่อไปรัฐจะรับซื้อไฟเข้าระบบ พร้อมต่อยอดทำ EV Station ในหมู่บ้านเสนานำร่องเดือน พ.ย.นี้
นางเกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เสนา โซลาร์ เอนเนอร์ยี่ จำกัด ผู้พัฒนาหมู่บ้านโซลาร์เต็มรูปแบบรายแรกของไทย บริษัทที่เสนาดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ถือหุ้น 100% เปิดเผยว่า จากนโยบายของรัฐบาลที่กำลังเตรียมเปิดโครงการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานทดแทนในรูปแบบผสมผสาน (Hybrid) ระหว่างพลังงานแสงอาทิตย์กับชีวมวลเพื่อให้การรับซื้อไฟฟ้ามีสัญญาแบบ Firm ทำให้บริษัท เสนาโซลาร์ฯ ในระยะต่อไปจะต้องพิจารณาหาพันธมิตรและแนวทางการลงทุนการผลิตไฟฟ้าจากชีวมวลเพื่อปรับตัวให้สอดรับกับนโยบายของรัฐบาล
“กระทรวงพลังงานได้มีการหารือร่วมกับเอกชนในเบื้องต้นบ้างแล้วถึงแนวทางการรับซื้อไฟฟ้าแบบผสมผสาน หรือ Hybrid เนื่องจากปัจจุบันพลังงานทดแทนที่รับซื้อเดี่ยวๆ มีปัญหาในการจ่ายไฟไม่ต่อเนื่อง 24 ชั่วโมง ทำให้การซื้อไฟเป็นแบบ Non- Firm คือไม่กำหนดการจ่ายไฟต่อเนื่อง รัฐจึงอยากให้เป็นแบบ Firm เพื่อความมั่นคงจึงมองการผสมผสานเชื้อเพลิงแสงอาทิตย์ที่ผลิตกลางวัน กับชีวมวลที่สามารถผลิตกลางคืนได้ แต่รายละเอียดและแนวทางการเปิดรับซื้อยังไม่ชัดเจน วิธีนี้ทำให้เราเองคิดว่าจะโฟกัสเฉพาะแสงอาทิตย์ก็คงต้องมองชีวมวลไว้ด้วย” นางเกษรากล่าว
ปัจจุบัน เสนาโซลาร์ฯ ได้เสนอยื่นขายไฟฟ้าในโครงการรับซื้อพลังงานแสงอาทิตย์ติดตั้งบนหลังคาที่อยู่อาศัยเสรีนำร่อง (โซลาร์รูฟท็อปเสรี) จำนวน 98 ยูนิต โดย 91 ยูนิตเป็นหลังคาบ้านที่อยู่อาศัยกำลังผลิตไฟประมาณ 400-500 กิโลวัตต์ (KW) 7 ยูนิตเป็นอาคารโรงงาน โดยโครงการนี้ยอมรับว่าผิดคาดจากที่เคยมองไว้เพราะรัฐต้องการนำร่องเพื่อศึกษาความพร้อมก่อนจึงให้ผลิตเองใช้เองไฟฟ้าที่เหลือไม่มีการรับซื้อเข้าระบบ อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ คาดหวังว่าในที่สุดรัฐบาลจะมีนโยบายการรับซื้อไฟฟ้าเข้าระบบในระยะต่อไปโดยอัตราซื้อไฟต่ำกว่าที่ซื้อจากการไฟฟ้าก็ยังจะจูงใจมากกว่าที่จะไม่รับซื้อเลย
ทั้งนี้ เสนาโซลาร์ฯ มีความสนใจที่จะยื่นเสนอขายไฟในโครงการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ติดตั้งบนพื้นดินสำหรับหน่วยงานราชการและสหกรณ์ในเฟส 2 ในส่วนของสหรกรณ์ แต่ทั้งนี้จากการที่รัฐได้ประกาศปรับปรุงอัตราการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์จากผู้ผลิตขนาดเล็กมาก (VSPP) ในระบบ Feed in Tariff (FiT)มาอยู่ที่ 4.12 บาทต่อหน่วย ยังไม่แน่ใจว่าจะนำมาใช้กับการรับซื้อโซลาร์ฟาร์มราชการ และสหกรณ์เฟส 2 หรือไม่ โดยหากใช้อัตรานี้ยอมรับว่าการทำงานจะยากขึ้น
“ต้นทุนแผงโซลาร์ 3 ปีมานี้ลดลงแล้ว 40% เพราะผู้เล่นรายใหญ่ในโลกมีจำนวนมากเมื่อ FiT 4.12 บาทต่อหน่วย แต่ค่าที่ ค่าที่ปรึกษายังคงเป็นต้นทุนคงที่และกรณีการที่ต้องร่วมกับสหกรณ์ แบงก์จะมองความเสี่ยงมากขึ้น ภาพรวมการได้รับดอกเบี้ยเงินกู้ย่อมจะไม่ดีกว่า FiT เดิมที่ 5.66 บาทต่อหน่วย ซึ่งนั่นหมายถึงผลตอบแทนต่อหน่วย หรือยีล จะไม่ดีเท่าเดิม” นางเกษรากล่าว
ทั้งนี้ ภายในเดือน พ.ย. บริษัทฯ จะเปิดตัวสถานีชาร์จไฟสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า (EV Station) ในหมู่บ้านของเสนาเพื่อบริการส่วนกลางให้แก่ผู้ที่มีรถยนต์ไฟฟ้า เป็นการต่อยอดจากพลังงานแสงอาทิตย์ของบริษัท จากโครงการของเสนาการบริการส่วนกลางจะมีการติดตั้งระบบแสงอาทิตย์ เช่น ไฟถนน เพื่อลดต้นทุนค่าส่วนกลางสำหรับผู้ซื้อบ้านของเสนาอยู่แล้ว ส่วนแผนการดำเนินงานของบริษัทในปี 2560 ยังคงจะรุกการดำเนินงานติดตั้งแผงโซลาร์ของโครงการหมู่บ้านเสนาเพิ่มขึ้น และมีเป้าหมายระยะยาวติดตั้งจนครบทุกโครงการ รวมไปถึงการติดตั้งบนตึกแถว โฮมออฟฟิศ โดยวางเป้าหมายรายได้รวมจะอยู่ที่ประมาณ 300-400 ล้านบาทใกล้เคียงกับปีนี้ ขณะที่การนำบริษัท เสนาโซลาร์ฯ เข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์จากที่มองไว้ในปี 2561 ก็อาจจะต้องมาพิจารณาดูอีกครั้ง