“กฟผ.” เด้งรับนโยบาย “บิ๊กโย่ง” เตรียมทบทวนปริมาณสำรองไฟฟ้าที่สูง 30% ให้อยู่เกณฑ์ 15% ยอมรับไม่ง่ายหากจะเลื่อนก่อสร้างออกไป เหตุส่วนหนึ่งการผลิตไฟฟ้าเป็นของเอกชนที่เจรจาให้เลื่อนลำบาก ขณะที่ กฟผ.ระยะหลังก็มีแต่โรงไฟฟ้าทดแทนของเก่าหากเลื่อนจะกระทบความมั่นคง ชี้ที่ผ่านมาสำรองที่สูงเกิดจากภาวะเศรษฐกิจ และการสร้างโรงไฟฟ้าหลักเพื่อรองรับพลังงานทดแทน
นายกรศิษฏ์ ภัคโชตานนท์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) เปิดเผยถึงกรณีที่ พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน มีนโยบายให้ กฟผ.พิจารณาทบทวนปริมาณสำรองการผลิตไฟฟ้าที่มีสูงถึง 30% ให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ 15% ว่า กฟผ.กำลังทบทวนแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า (PDP 2015) ว่าจะสามารถลดปริมาณสำรองลงได้อย่างไร โดยแนวทางหลักๆ ที่ผ่านมาจะพิจารณาเลื่อนการสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ออกไปแต่ยอมรับว่าในส่วนของการผลิตไฟฟ้าจากภาคเอกชนนั้นเป็นเรื่องที่ยากเพราะได้ทำสัญญาไปแล้ว ขณะที่โรงไฟฟ้าของ กฟผ.ขณะนี้ส่วนใหญ่เป็นโรงไฟฟ้าทดแทนหากเลื่อนไปจะมีความเสี่ยงต่อความมั่นคงระบบไฟฟ้า
“โรงไฟฟ้าของ กฟผ.ส่วนใหญ่เป็นโรงไฟฟ้าทดแทน เช่น แม่เมาะ, พระนครใต้ และบางปะกง โดยโรงไฟฟ้าแม่เมาะมีความจำเป็นทั้งเรื่องการกระจายเชื้อเพลิงเพื่อรักษาระดับต้นทุนและลดความเสี่ยงการพึ่งพาก๊าซธรรมชาติ ส่วนโรงไฟฟ้าพระนครใต้และบางปะกงก็จะเป็นจุดสำคัญที่ป้อนเข้ามาสู่ กทม. และปริมณฑลที่มีความต้องการไฟฟ้ากว่าหมื่นเมกะวัตต์ ซึ่งเป็นจุดสำคัญเพราะหากเกิดปัญหาไฟตกไฟดับจะมีความเสียหายต่อภาคเศรษฐกิจถึง 80 บาทต่อหน่วย” นายกรศิษฏ์กล่าว
ทั้งนี้ ปริมาณสำรองที่สูงถึง 30% นั้นยอมรับว่าแผน PDP ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 3 ยึดตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ขยายตัวระดับ 4% ต่อปี แต่ต่อมาภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำลงมาต่อเนื่องและขณะนี้เฉลี่ยแค่ 3-3.2% ขณะที่การก่อสร้างโรงไฟฟ้าใช้ระยะเวลา 5 ปีต้องวางแผนล่วงหน้าจึงส่งผลให้สำรองเพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับช่วงที่ผ่านมารัฐมีการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนในปริมาณที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทำให้ กฟผ.ต้องสร้างโรงไฟฟ้าหลักเพื่อรองรับพลังงานทดแทนเพื่อให้สามารถเดินเครื่องได้ตลอด 24 ชั่วโมง เพราะพลังงานทดแทน เช่น แสงอาทิตย์กลางคืนผลิตไม่ได้ ลมก็ไม่แน่นอน ชีวมวลก็ขึ้นอยู่กับฤดูเก็บเกี่ยวทางการเกษตร ฯลฯ
ผู้ว่าการ กฟผ.กล่าวว่า กำลังการผลิตตามแผน PDP ใหม่นั้นหากพิจารณาก็จะพบว่าสัดส่วนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่จะดำเนินการโดยภาคเอกชนเกือบ 50% ส่วนของ กฟผ.จะเป็นโรงไฟฟ้าที่ทดแทนโรงไฟฟ้าเดิมที่หมดอายุซึ่งการก่อสร้างใหม่เป็นเทคโนโลยีที่ทันสมัยขึ้นและพบว่ามีส่วนทำให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าเฉลี่ยที่ลดลง อย่างไรก็ตาม ครม.เมื่อ 11 ต.ค.มีมติเห็นชอบให้ กฟผ.ดำเนินโครงการทดแทนโรงไฟฟ้าพระนครใต้ ระยะที่ 1 กำลังผลิต 1,300 เมกะวัตต์
โดยเป็นการก่อสร้างโรงไฟฟ้าทดแทนโรงไฟฟ้าพระนครใต้เดิมที่จะถูกปลดออกจากระบบไฟฟ้าเนื่องจากครบอายุการใช้งานในปี 2562 และปี 2565 ตามลำดับ เพื่อทดแทนกำลังผลิตที่หายไปในระบบของโรงไฟฟ้าพระนครใต้เดิมและรักษาความมั่นคงระบบไฟฟ้าภายในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งเป็นจุดเสี่ยงและเป็นศูนย์กลางความต้องการไฟฟ้าของประเทศที่มีความสำคัญ