รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานย้ำโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ยังเป็นไปตามแผน PDP 2015 ย้ำทุกอย่างต้องเดินตามแผนที่วางไว้ ปัดข้อเสนอชาวบ้านเสนอทำโรงไฟฟ้าทับสะแก รวมถึงข้อเสนอ BLCP ที่จะสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินแทนหากกระบี่เกิดไม่ได้ เผยเป็นเรื่องอนาคตหากความต้องการใช้ไฟเพิ่มก็อาจจะมาพิจารณา พร้อมทบทวนต้นทุนเพื่อรีวิว FiT พลังงานหมุนเวียนใหม่โฟกัสโซลาร์เซลล์
พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ปาฐกถาพิเศษ “พลังงานไทยในกระแสพลังงานโลก” ในเวทีสัมมนาวิชาการซึ่งจัดโดยสถาบันพลังงานเพื่ออุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ว่า ไทยมีแผนบูรณาการพลังงานที่ประกอบด้วย 5 แผนหลัก ซึ่งขณะนี้ทุกอย่างยังเดินตามแผนโดยเฉพาะแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า (PDP 2015) ที่จะมีแผนสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ล่าสุดกำลังพัฒนาโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ซึ่งขณะนี้คณะกรรมการไตรภาคีกำลังพิจารณาข้อมูลต่างๆ เพื่อให้รัฐบาลได้นำมาประกอบการตัดสินใจซึ่งทุกอย่างยังเป็นไปตามแผนพีดีพี
“ทุกอย่างยังเป็นไปตามแผนไม่มีการยกเลิกกลางคันไม่เช่นนั้นก็ไม่ต้องทำอะไรกัน กรณีไตรภาคีไม่ได้บอกว่าจะทำอะไร เลิกทำอะไร เพียงแต่การรวบรวมข้อมูลจากทุกฝ่ายเพราะถ้ากระทรวงพลังงานรวบรวมก็จะหาว่าไม่เป็นกลาง ส่วนกรณีชาวบ้านมาเสนอให้สร้างโรงไฟฟ้าทับสะแก ที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์นั้นทุกอย่างก็ต้องเป็นไปตามแผน” รมว.พลังงานกล่าว
ส่วนกรณีที่บริษัทบีแอลซีพี เพาเวอร์ จำกัด ได้เสนอที่จะสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด 1,000 เมกะวัตต์โดยเตรียมความพร้อมทั้งที่ดินและผ่านขั้นตอนการรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) หากโรงไฟฟ้าถ่านหินของ กฟผ.หรือกระบี่ไม่สามารถเกิดได้นั้นเป็นเรื่องของเอกชนที่จะเตรียมความพร้อม แต่กระทรวงฯ ยังยึดตามแผนพีดีพี 2015 ที่มีระยะเวลา 20 ปีที่กำหนดโรงไฟฟ้าและระยะเวลาไว้ชัดเจนแล้ว
“ยังไม่ถึงเวลาเพราะทุกอย่างต้องเดินไปตามแผนยกเว้นแต่ความต้องการใช้ไฟมากกว่าแผนเท่านั้น และการเปิดประมูลรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนขนาดใหญ่หรือ IPP ก็ต้องไปดูระยะยาว” รมว.พลังงานกล่าว
สำหรับพลังงานทดแทนนั้น กระทรวงพลังงานได้ติดตามเทคโนโลยีตลอดเวลาเพื่อที่จะดูต้นทุน หากมีการลดต่ำลงก็ต้องปรับแนวทางส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในระบบ Feed in Tariff (FiT) ปัจจุบันให้สอดคล้องกับต้นทุนที่แท้จริงอีกครั้ง โดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar) ที่ลดต่ำลงมาก
“ขณะนี้เราก็ใช้วิธีประมูลหรือ FiT Bidding ก็จะเห็นว่ากรณีการรับซื้อไฟชีวมวลภาคใต้ก็จะเสนอค่าไฟต่ำกว่า FiT ก็เหมือนเป็นราคากลางที่เหมาะสมวางไว้เท่านั้น ซึ่งหากต้นทุนอะไรที่ต่ำลงก็ควรจะทบทวน ซึ่งบางอย่างไม่เปลี่ยนแปลงก็ได้ต้องมีเหตุมีผลนะต้องให้เป็นธรรม” รมว.พลังงานกล่าว