xs
xsm
sm
md
lg

กันกุลประกาศลุยโซลาร์ฟาร์ม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online



กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง เดินหน้าลุยโซลาร์ฟาร์มในประเทศมาเลเซีย เล็งเข้าซื้อโครงการโซลาร์ฟาร์มในประเทศฟิลิปปินส์ และเมียนมา เผยสรุปดีลซื้อโซลาร์ ฟาร์มในญี่ปุ่นปลายปีนี้
โศภชา ดำรงปิยวุฒิ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ GUNKUL เปิดเผยว่า บริษัทอยู่ระหว่างเตรียมยื่นประมูลโครงการโซลาร์ฟาร์มในประเทศมาเลเซีย อีก 20 เมกะวัตต์ จากทั้งหมด 150 เมกะวัตต์ ซึ่งคาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในสิ้นปีนี้ ขณะเดียวกัน ยังอยู่ระหว่างศึกษาโอกาสการเข้าซื้อโครงการโซลาร์ฟาร์มในประเทศฟิลิปปินส์และเมียนมา แต่ยังไม่มีความแน่นอน เนื่องจากต้องดูความเพียงพอและคุณภาพของสายส่งที่มีความพร้อมก่อนการเข้าลงทุน

ขณะเดียวกัน เรายังอยู่ระหว่างศึกษาการลงทุนโครงการพลังงานลมในเมียนมา บริเวณใกล้กับพระธาตุอินทร์แขวน ซึ่งเป็นทำเลที่มีปริมาณลมเพียงพอในการผลิตไฟฟ้า แต่ยังติดปัญหาเรื่องคุณภาพสายส่ง ทำให้บริษัทไม่รีบตัดสินใจลงทุน แต่ยังมองว่าหากมีการพัฒนาสายส่งที่ดีขึ้น ก็มีความเป็นไปได้ที่จะเข้าลงทุนในโครงการดังกล่าวได้ทันที

ทั้งนี้ มั่นใจว่ากำลังการผลิตไฟฟ้าที่ตั้งไว้ระดับ 1,000 เมกะวัตต์ในปี 2564 จะทำได้ตามเป้าหมาย จากปัจจุบันที่มีอยู่ 403 เมกะวัตต์ ซึ่งใกล้เป้าหมายระดับ 500 เมกะวัตต์ในปี 2560 คาดว่าสิ้นปีนี้จะทำได้ 420 เมกะวัตต์ ซึ่งมาจากพลังงานแสงอาทิตย์ 250 เมกะวัตต์ และพลังงานลม 170 เมกะวัตต์
นอกจากนี้ บริษัทเตรียมสรุปดีลการเข้าซื้อโครงการโซลาร์ฟาร์ม 1 แห่ง ในประเทศญี่ปุ่น ขนาดกำลังการผลิต 40-70 เมกะวัตต์ ในช่วงปลายปีนี้ จากที่เจรจาอยู่ 2-3 ดีล โดยดีลที่คาดว่าจะสรุปได้นั้นมีมูลค่าโครงการราว 4,000-7,000 ล้านบาท ซึ่งจะใช้เงินกู้สถาบันการเงิน 85% ส่วนที่เหลืออีก 15% มาจากส่วนทุนของบริษัท ขณะที่ปัจจุบันมีโครงการโซลาร์ฟาร์มในประเทศญี่ปุ่นทั้งหมด 3 โครงการ ขนาดกำลังการผลิตทั้งหมด 150 เมกะวัตต์

ปัจจุบันมีกำลังผลิตไฟฟ้าที่จะจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์เข้าสู่ระบบ (COD) แล้วของโครงการโซลาร์และลมทั้งหมด 111 เมกะวัตต์ และในเดือนตุลาคมนี้จะจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์เข้าสู่ระบบ โรงไฟฟ้าพลังงานลมเพิ่มเข้ามาอีก 50 เมกะวัตต์ ทำให้สิ้นปีนี้จะมีกำลังผลิตไฟฟ้าและจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์เข้าสู่ระบบที่ 161 เมกะวัตต์ ทำให้มั่นใจว่ารายได้ในปีนี้ทำได้ตามเป้าหมายที่เติบโต 30% มาอยู่ที่ 5,800 ล้านบาท

ผลการดำเนินงานในปีนี้คาดว่ากำไรจะใกล้เคียงปีก่อนที่ 685.14 ล้านบาท เนื่องจากงานของธุรกิจรับเหมาก่อสร้างโรงไฟฟ้า (EPC) มีโอกาสทำได้ไม่เข้าเป้าที่ตั้งไว้ 50 เมกะวัตต์ และลดลงจากปีก่อนที่รับงาน EPC ได้มากถึง 100 เมกะวัตต์ ซึ่งปัจจุบันบริษัทรับงานได้เพียง 20 เมกะวัตต์ ทำให้กำไรจาก EPC หายไปค่อนข้างมาก แต่มีกำไรจากธุรกิจพลังงานทดแทนเข้ามาช่วยหนุน
กำลังโหลดความคิดเห็น