xs
xsm
sm
md
lg

กระทรวงอุตสาหกรรมโรดโชว์มาเลเซีย ขายพื้นที่นิคมฯ รับเบอร์ซิตี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“กระทรวงอุตสาหกรรม-กนอ.” เดินสายโรดโชว์ศักยภาพพื้นที่นิคมฯ รับเบอร์ซิตี้ ประเทศมาเลเซีย 13-14 ตุลาคม งัดมาตรการจูงใจและสิทธิประโยชน์ ดึงดูดนักลงทุน มั่นใจทุนมาเลเซียและอินเดียเล็งเข้าซื้อพื้นที่ประกอบกิจการผลิตภัณฑ์ยางครบวงจร เผยพื้นที่นิคมฯ พร้อมรับนักลงทุนได้ในปี 2561

นางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ในวันนี้ (14 ตุลาคม 2559) ได้นำคณะผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม และการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เดินทางไปยังกรุงกัวลาลัมเปอร์ สหพันธรัฐมาเลเซีย เพื่อร่วมกิจกรรมสัมมนาภายใต้หัวข้อ “ทิศทางการลงทุนนิคมอุตสาหกรรมยางพาราในประเทศไทย” เพื่อเป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นด้านการลงทุนในอุตสาหกรรมยาง ซึ่งปัจจุบันไทยได้จัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมยางพารา (Rubber City) จังหวัดสงขลา ที่มีความพร้อมด้านระบบสาธารณูปโภคลอจิสติกส์ การเชื่อมโยงแหล่งวัตถุดิบทั้งในและนอกประเทศ ทำให้พื้นที่การลงทุนดังกล่าวมีศักยภาพในการเป็นศูนย์กลางการผลิต และส่งออกผลิตภัณฑ์ยางในอาเซียน

“หลังจากที่ได้มีการเปิดตัวนิคมอุตสาหกรรมยางพาราไปแล้ว จนถึงขณะนี้มีนักธุรกิจติดต่อและสอบถามข้อมูลมาอย่างต่อเนื่อง และเริ่มมีนักลงทุนต่างชาติหลายรายให้ความสนใจในพื้นที่การลงทุน โดยเฉพาะมาเลเซีย อินเดีย และจีน เป็นต้น เชื่อว่าแนวทางที่รัฐบาลให้การส่งเสริมจะมีส่วนช่วยยกระดับมูลค่าเพิ่มให้กับยางพารา” นางอรรชกากล่าว

สำหรับการให้ข้อมูลกับนักลงทุนในครั้งนี้ ได้ชี้ให้เห็นถึงความก้าวหน้าในการพัฒนาพื้นที่ ภาพรวมโครงการนิคมอุตสาหกรรมยางพารา มีพื้นที่ประมาณ 1,218 ไร่ คาดว่าจะแล้วเสร็จพร้อมรองรับนักลงทุนภายในปี 2561 และมีการเตรียมความพร้อมในด้านการส่งเสริมการลงทุน ด้านสิทธิประโยชน์ในรูปแบบต่างๆ ที่จะอำนวยความสะดวกให้แก่นักลงทุนทั้งในส่วนการยกเว้นค่าธรรมเนียม และค่าอากรในการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดิน ได้รับยกเว้นค่าบำรุงรักษาสิ่งอำนวยความสะดวก และอื่นๆ

นอกจากนี้ การสัมมนาครั้งนี้ กนอ.ยังได้เปิดคลินิกการลงทุนในรูปแบบการสัมมนากลุ่มย่อย เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านการลงทุนอย่างใกล้ชิดระหว่างนักลงทุนไทยและมาเลเซีย ซึ่งนับว่าได้รับความสนใจจากหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมกิจกรรมจำนวนมาก เช่น ผู้ประกอบการมาเลเซีย กลุ่มสมาคมผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ยางพารา สมาคมผู้ผลิตถุงมือยาง และบริษัท เทรดวินส์ แพลนเทชั่น เบอร์หาด (TPB) โดยคาดว่าจะส่งผลดีในแง่ของความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างประเทศที่จะมีการเข้ามาลงทุนในนิคมฯ ยางพาราของไทยเพิ่มขึ้น

นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า ได้นำเสนอข้อมูลในการพัฒนาพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมยางพาราที่ขณะนี้สามารถพัฒนาได้เร็วกว่าแผนที่วางไว้ โดยเฉพาะการปรับพื้นที่เพื่อรองรับโรงงานอุตสาหกรรม และการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคต่างๆ รวมทั้งอาคารสำนักงานเพื่อใช้ในการอำนวยความสะดวกในด้านการติดต่อให้แก่นักลงทุนที่เข้ามาลงทุนซึ่งการพัฒนาโครงการดังกล่าวคาดว่าจะสามารถรองรับการลงทุนได้ตั้งแต่ปี 2561 เป็นไปตามเป้าหมายที่วางเอาไว้

ที่ผ่านมา กนอ.ได้เปิดให้นักลงทุนที่สนใจพื้นที่เข้าเจรจาซื้อและเช่าที่ดินอย่างต่อเนื่อง พบว่า มีนักลงทุน ในกลุ่มผู้ประกอบการกลุ่มอุตสาหกรรมยางพาราขั้นกลางน้ำและปลายน้ำ เช่น ที่นอนยางพารา ยางล้อรถยนต์ ให้ความสนใจซื้อและเช่าที่ดินแล้วจำนวนหลายราย ทั้งนี้ กนอ.ได้วางเป้าหมายว่าจะมีนักลงทุนเข้ามาลงทุนในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมยางพาราทั้งสิ้น 70 โรงงาน ภายใน 5 ปี (2564) รวมมูลค่าเม็ดเงินไม่ต่ำกว่า 8,000 ล้านบาท และคาดว่าจะก่อให้เกิดความต้องการใช้ยางพาราได้ไม่น้อยกว่า 9,000 ตันต่อปี แบ่งเป็น น้ำยางข้น 60% จำนวน 5,400 ตันต่อปี และยางแผ่นรมควัน จำนวน 3,600 ตันต่อปี สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรสวนยางเป็นเงิน 450 ล้านบาทต่อปี และเมื่อนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ยางพาราแล้วจะสามารถเพิ่มมูลค่าได้ถึง 10 เท่า หรือคิดเป็นเม็ดเงินกว่า 4,500 ล้านบาท
กำลังโหลดความคิดเห็น