กระทรวงอุตสาหกรรมเตรียมเสนอ “สนช.” พิจารณาร่าง พ.ร.บ. EEC หลังคณะรัฐมนตรีอนุมัติหลักการแล้ว ก่อนประกาศใช้เป็นกฎหมายได้ภายในต้นปีหน้า มุ่งสู่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจภาคตะวันออก ระยะแรกเริ่มใน 3 จังหวัด ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา รับการลงทุนใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย “กนอ.” มั่นใจเตรียมพื้นที่รับลงทุนแล้ว
นางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 4 ต.ค. 2559 ที่ผ่านมา ครม.ได้อนุมัติหลักการร่าง พ.ร.บ.พื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. .. ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ เพื่อนำเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในขั้นต่อไป ก่อนที่จะประกาศใช้เป็นกฎหมายได้ภายในต้นปีหน้าเพื่อนำไปสู่การขับเคลื่อนโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor Development หรือ EEC) เบื้องต้นในพื้นที่ 3 จังหวัด ประกอบไปด้วยจังหวัดชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา เพื่อนำไปสู่แผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และระบบลอจิสติกส์ทั้งระบบ รวมทั้งการอำนวยความสะดวกในการให้บริการของภาครัฐในพื้นที่เขต EEC และสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งอนาคต เพื่อรองรับการลงทุนใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายที่รัฐบาลกำหนดไว้
นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า “เป็นความคืบหน้าในการพัฒนาประเทศตามนโยบายรัฐบาลที่จะผลักดันให้พื้นที่ภาคตะวันออกเป็นศูนย์กลางการผลิตอุตสาหกรรมขั้นสูงที่ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยี และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อเป็นการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมไทย และยกระดับให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตของอาเซียนอย่างแท้จริง”
โดยสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว จะเป็นการยกระดับพื้นที่ ตั้งแต่จังหวัดชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา เป็นพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างเป็นระบบ และมีประสิทธิภาพ ผ่านกลไกการบริหารที่จะมีการตั้งสำนักงานคณะกรรมการนโยบายพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกขึ้น อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการนโยบายพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน
นอกจากนั้น ในร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวยังได้กำหนดให้มีการจัดตั้งเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษขึ้น เพื่อกำหนดสิทธิประโยชน์เพื่อดึงดูดการลงทุน 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่ เช่น
- สิทธิในการถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดิน หรืออสังหาริมทรัพย์อื่นของคนต่างด้าว ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการนโยบายพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกกำหนด
- สิทธิในการนำช่างฝีมือ ผู้บริหารหรือผู้ชำนาญการ ซึ่งเป็นคนต่างด้าว เข้ามาและอยู่อาศัยในราชอาณาจักร เป็นการชั่วคราว
- สิทธิในการที่จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสูงสุดเป็นเวลา 13 ปี ตามหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนกำหนด
- สิทธิประโยชน์ในด้านธุรกรรมการเงิน เช่น สิทธิในการถือครองเงินตราต่างประเทศ เป็นระยะเวลานานกว่าที่กำหนดไว้ตามกฎหมายอื่น
- สิทธิการเช่าที่ดินในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษสูงสุดมีกำหนดระยะเวลาสูงสุดถึง 99 ปี
รวมทั้งการจัดตั้งศูนย์บริการเบ็ดเสร็จครบวงจร (One Stop Service) เพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักลงทุนในการประกอบกิจการ
ทั้งนี้ ภายหลังจากที่ พ.ร.บ.ดังกล่าวมีผลบังคับใช้ จะก่อให้เกิดการลงทุนในพื้นที่ไม่น้อยกว่า 1.5 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย 500,000 ล้านบาท การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน 400,000 ล้านบาท การลงทุนในด้านการพัฒนาเมืองใหม่ เช่น การก่อสร้างโรงพยาบาล โรงเรียน และที่อยู่อาศัยประมาณ 400,000 ล้านบาท รวมถึงการลงทุนด้านการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพและสุขภาพประมาณ 200,000 ล้านบาท และคาดว่าภายในระยะเวลา 1-5 ปีจะมีความต้องการใช้พื้นที่เพื่อการลงทุนใน 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายประมาณ 70,259 ไร่
ประกอบด้วย อุตสาหกรรมปิโตรเคมีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จะใช้พื้นที่รองรับประมาณ 18,000 ไร่ อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ หุ่นยนต์ ประมาณ 7,259 ไร่ อุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร การเกษตรเทคโนโลยีชีวภาพ เชื้อเพลิงชีวภาพ 21,500 ไร่ อุตสาหกรรมการบิน ประมาณ 500 ไร่ อุตสาหกรรมลอจิสติกส์ ประมาณ 20,000 ไร่ และอุตสาหกรรมดิจิตอล และการแพทย์ครบวงจร ประมาณ 3,000 ไร่ ขณะนี้เรื่องของพื้นที่ในการรองรับการลงทุนดังกล่าวไม่น่าเป็นห่วง เนื่องจาก กนอ.ได้เตรียมพื้นที่พร้อมที่จะรองรับแล้ว