สมาคมเหล็กลวดไทยเตรียมเสนอกระทรวงพาณิชย์อีกระลอกหลังมาตรการเรียกเก็บอากรตอบโต้การทุ่มตลาดหรือ AD เหล็กลวดคาร์บอนต่ำที่ออกมาไร้ผล เหตุเพราะยังเปิดช่องพิกัด 7227.9000.090 ยกเว้นภาษีอากรให้ ส่งผลให้มีการเจือธาตุโบรอนโยกย้ายพิกัดหลบหลีกการเสียภาษี กางตัวเลขโชว์ให้เห็นจะจะตัวเลขนำเข้าผิดปกติ แถมราคาต่ำ
นายธีรยุทธ เลิศศิรรังสรรค์ นายกสมาคมการค้าเหล็กลวดไทย เปิดเผยว่า สมาคมฯ ได้หารือที่จะนำเสนอให้กระทรวงพาณิชย์โดยกรมการค้าต่างประเทศทบทวนมาตรการเรียกเก็บอากรตอบโต้การทุ่มตลาด (AD) สินค้าเหล็กลวดคาร์บอนต่ำฉบับถาวรเมื่อ 7 มี.ค.ที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพิกัด 7227.9000.090 ซึ่งมีการเรียกเก็บอากร 0% สำหรับ ก.มีคาร์บอนไม่เกิน 0% โดยน้ำหนักและมีโบรอนไม่น้อยกว่า 0.0040 โดยน้ำหนัก หรือ ข.มีคาร์บอนมากกว่า 0.18% และมีโบรอนตั้งแต่ 0.0008 ขึ้นไปแต่ไม่เกิน 0.004 และมีแมงกานีสตั้งแต่ 0.70-1% โดยน้ำหนัก ดังนั้นจึงจะเสนอให้ยกเลิกการยกเว้นพิกัดเหล็กดังกล่าวที่แยกมาเป็น ก.และ ข.นี้ เนื่องจากพบว่าตลอด 7 เดือนที่ผ่านมามีการนำเข้าเหล็กลวดในพิกัดดังกล่าวจากจีนเป็นจำนวนมาก
“ผู้ผลิตยืนยันว่าการผลิตในประเทศนั้นมีเพียงพอแน่นอน และเราเห็นว่าไม่ควรจะมาแยกเป็น ก. ข. เพราะของเดิมที่มีอยู่ก็เป็นไปตามมาตรฐานสากลรองรับอยู่แล้ว ซึ่งตรงกันข้ามที่กรณีนี้กลับมองว่ามาตรฐานมีการกำหนดขึ้นมาเองในจีนไม่มีมาตรฐานสากลรองรับใดๆ จึงเห็นว่าทั้ง ก. ข. ขอให้ยกเลิกไปเลย” นายธีรยุทธกล่าว
ทั้งนี้ ปริมาณนำเข้าเหล็กลวดจากจีนในพิกัด 7227.9000.090 ช่วง ม.ค.-ก.ค.มีจำนวน 764,203 ตัน เพิ่มขึ้น 258,408 ตันเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีการนำเข้าเพียง 505,795 ตัน โดยเหล็กลวดดังกล่าวมีราคานำเข้าเฉลี่ย 13.13 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) ซึ่งเป็นราคาเหล็กลวดในขั้นคุณภาพมาใช้ในงานทั่วไปไม่ได้นำมาใช้สำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ และอุปกรณ์ไฟฟ้าตามจุดประสงค์ของ AD ขณะที่ราคาในไทยที่มีคุณภาพจำหน่ายอยู่ที่ 15-16 บาทต่อ กก.
ขณะเดียวกัน การนำเข้าจากจีนในพิกัด 7227.9000.015 ซึ่งมีการเก็บภาษี AD ช่วง 7 เดือน (ม.ค.-ก.ค. 59) จำนวน 12,431 ตัน ลดลง 223,307 ตัน เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีการนำเข้าถึง 235,738 ตัน ซึ่งแสดงให้เห็นว่ามีการย้ายพิกัดสินค้าเหล็กลวดจากพิกัด 7227.9000.015 ไปที่พิกัด 7227.9000.090 โดยเจือธาตุโบรอนให้มากกว่า 0.004% เพื่อย้ายพิกัดและหลบเลี่ยงการเสียอากรตอบโต้การทุ่มตลาด
“มาตรการ AD ฉบับชั่วคราวมีผลเมื่อ 10 ก.ย. 58 ต่อมาเป็นฉบับถาวรเมื่อ 7 มี.ค. 59 สำหรับเหล็กลวดคาร์บอนต่ำเราหวังว่าอะไรจะดีขึ้นแต่ข้อเท็จจริงกลับไม่ใช่ การนำเข้าเหล็กลวดจากจีนยังคงทะลักเข้ามาจำนวนมาก โดยครึ่งปีแรกไทยใช้เหล็กลวดทุกประเภท 1.18 ล้านตัน มีการนำเข้าเหล็กลวดรวม 6.5 แสนตัน ขณะที่มีการผลิตเหล็กลวดคาร์บอนไม่เจือธาตุในประเทศ 2.72 แสนตัน คิดเป็นเพียง 23% ของการใช้งานในประเทศเท่านั้น” นายธีรยุทธกล่าว
ทั้งนี้ หากรัฐไม่เร่งดำเนินการให้เร็วผู้ผลิตเหล็กลวดในประเทศคงจะประสบภาวะยากลำบาก และอาจต้องหันไปดำเนินธุรกิจอื่นแทนเพราะไม่สามารถแข่งขันได้ และหากมองอีกมุมรัฐยังสูญเสียรายได้จากภาษีศุลกากรที่รัฐพึงได้อีกไม่น้อยกว่า 500 ล้านบาทจากการนำเข้าจากจีนในช่วง 7 เดือนที่ผ่านมา
สำหรับสมาคมการค้าเหล็กลวดไทยเป็นการรวมกลุ่มของผู้ประกอบการเหล็กลวด 6 รายเพื่อส่งเสริมการประกอบวิสาหกิจประเภทที่เกี่ยวกับการผลิตเหล็กลวดทุกประเภทและสนับสนุนและช่วยเหลือสมาชิกที่มีปัญหา และติดตามความเคลื่อนไหวของต้นทุนวัตถุดิบทั้งภายในและนอกประเทศเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการ และช่วยส่งเสริมคุณภาพเหล็กลวดให้กับสมาชิก