xs
xsm
sm
md
lg

เปิดโพยแพะรับหนี้จำนำข้าว 1.43 แสนล้านแทน “ปู” เผยมีบอร์ด กขช. ข้าราชการ ยันเอกชน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

แฟ้มภาพ
เปิดโพยแพะรับหนี้ 1.43 แสนล้านแทน “ปู” พบบอร์ด กขช.ทั้งคณะ พ่วงข้าราชการพาณิชย์ เกษตรฯ คลัง ตั้งแต่หัวยันหางติดร่างแหเพียบ ส่วนคน อคส. อ.ต.ก.ในฐานะหน่วยงานปฏิบัติไม่รอด ด้านเอกชนมีทั้งโรงสี เซอร์เวเยอร์ โกดังกลาง ผู้ส่งออก ระบุอาจลามถึงระดับจังหวัด เหตุร่วมรับผิดชอบถือกุญแจคลังเก็บข้าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากที่คณะกรรมการพิจารณาความรับผิดทางแพ่งเรียกค่าเสียหายจากโครงการรับจำนำข้าวได้สรุปเรียกค่าเสียหายจาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในวงเงิน 3.56 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็น 20% จากวงเงินเสียหายรวม 1.78 แสนล้านบาท และอีก 80% หรือ 1.43 แสนล้านบาท รัฐบาลได้ระบุว่ากำลังอยู่ระหว่างการให้กระทรวงที่เกี่ยวข้องดำเนินการเรียกค่าเสียหายจากผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องตามที่ได้นำเสนอข่าวมาอย่างต่อเนื่องนั้น

ล่าสุด จาการพิจารณาแนวทางการกำหนดสัดส่วนความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ ภายใต้ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 ที่กำหนดโดยกระทรวงการคลัง พบว่าได้มีการกำหนดสัดส่วนความรับผิดของเจ้าหน้าที่เอาไว้ชัดเจน โดยในกรณีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ซึ่งเป็นผู้อนุมัติขั้นสูง จะต้องรับผิดชอบในสัดส่วน 20% และที่เหลือ 80% แบ่งเป็นความรับผิดชอบของคณะกรรมการที่พิจารณาโครงการรับจำนำข้าว 60% และอีก 20% ที่เหลือเป็นความรับผิดชอบของผู้ผ่านงานชั้นต้นและชั้นกลาง

ทั้งนี้ จากเงื่อนไขดังกล่าวหมายความว่า ผู้ที่เป็นคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) ในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ จะถูกเรียกค่าเสียหายในส่วน 60% หรือ 1.068 แสนล้านบาท และอีก 20% หรือ 3.56 หมื่นล้าน จะเป็นความรับผิดชอบของ รมว.พาณิชย์ รองนายกรัฐมนตรี รวมถึงคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในส่วนของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ เพราะเป็นผู้อนุมัติในลำดับรองลงไป

อย่างไรก็ตาม ความรับผิดทางละเมิดอาจจะไม่จบแค่คณะกรรมการ กขช. รัฐมนตรี หรือ ครม. แต่จะมีการสาวไปถึงผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานที่รับผิดชอบในโครงการจำนำข้าว ในฐานะหน่วยงานปฏิบัติ โดยเฉพาะกรมการค้าภายใน องค์การคลังสินค้า (อคส.) องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) และยังรวมถึงภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องและได้รับประโยชน์ในทางที่ไม่สุจริตจากโครงการรับจำนำ เช่น โรงสี บริษัทตรวจสอบคุณภาพข้าว (เซอร์เวเยอร์) โกดังกลาง และอาจจะสาวไปถึงในระดับจังหวัด กรณีมีส่วนเกี่ยวข้องกับการดูแลข้าวในโครงการรับจำนำด้วย

สำหรับคณะกรรมการ กขช.ในยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการอนุมัติโครงการรับจำนำมีอยู่จำนวน 24 คน ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 153/2554 เรื่องการแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ ได้แก่ นายกรัฐมนตรี ประธานกรรมการ, รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ รมว.เกษตรและสหกรณ์ รมว.คลัง รองประธานกรรมการ, รมช.พาณิชย์ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปลัดกระทรวงเกษตรฯ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ผู้ช่วยเลขานุการ รมว.พาณิชย์ และผู้ทรงคุณวุฒิอีก 5 คน เป็นกรรมการ, ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เป็นกรรมการและเลขานุการ และมีรองปลัดกระทรวงพาณิชย์ อธิบดีกรมการค้าภายใน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ และอธิบดีกรมการข้าว เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ

ส่วนหน่วยงานปฏิบัติในระดับกระทรวงที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับโครงการรับจำนำข้าว ได้แก่ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะดูแลนโยบาย กรมการค้าภายใน ในฐานะหน่วยงานต้นเรื่องที่เป็นผู้จัดทำโครงการ และผู้ที่อยู่ในข่ายถูกเรียกร้องค่าเสียหาย จะเริ่มตั้งแต่อธิบดี รองอธิบดี ไล่ลงไปจนถึงระดับผู้อำนวยการกอง และเจ้าหน้าที่ ส่วน อคส. และ อ.ต.ก. ในฐานะหน่วยงานปฏิบัติ โดยผู้อยู่ในข่ายจะเริ่มตั้งแต่ ผอ. รอง ผอ. เรื่อยลงมาจนถึงหัวหน้าคลัง และเจ้าหน้าที่ ขณะที่ภาคเอกชน จะดูว่าใครที่มีส่วนเกี่ยวข้องและได้รับประโยชน์ที่ไม่สุจริตจากโครงการบ้าง ทั้งโรงสี เซอร์เวเยอร์ และเจ้าของโกดังกลาง
กำลังโหลดความคิดเห็น