“กรมโรงงานอุตสาหกรรม” จับมือ ส.อ.ท.ผุดโครงการนำร่องนำระบบไอทีเข้าบริหารจัดการอนุญาตบริหารจัดการกากอุตสาหกรรมให้ออกนอกโรงงาน นำร่อง 13 บริษัทลดเวลาอนุญาตให้เอกชนไม่เกิน 3 นาทีจากเดิม 10-30 วัน หวังขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การจัดการกากอุตสาหกรรมให้ได้ตามเป้าหมาย
นายสมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ร่วมมือกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) จัดทำโครงการนำร่องการอนุญาตนำสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วออกนอกบริเวณโรงงานโดยระบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือ Auto e-License ซึ่งเป็นโครงการนำร่องการพิจารณาอนุญาตโดยใช้ปัญญาประดิษฐ์ เพื่ออำนวยความสะดวกรวดเร็วการให้บริการตามนโยบายของรัฐบาล โดย กรอ.จะนำมายกระดับการอนุญาตกากอุตสาหกรรมให้กับผู้ประกอบการในเวลาไม่เกิน 3 นาทีจากเดิมใช้เวลา 10-30 วันเพื่อให้กากเข้าสู่ระบบตามแผนยุทธศาสตร์การจัดการกากอุตสาหกรรมปี 2558-2562 ที่จะต้องดำเนินการให้กากอุตสาหกรรมเข้าสู่ระบบไม่น้อยกว่า 90% ภายใน 5 ปี
นายมงคล พฤกษ์วัฒนา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่า การดำเนินโครงการดังกล่าว ระยะแรกนำร่องบริษัทผู้รับบำบัดกำจัดกากอุตสาหกรรมที่เข้าร่วมโครงการ 9 ราย รวมทั้งสิ้น 13 บริษัท ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มผู้ประกอบการชั้นดี โดยเป็นสมาชิกกลุ่มอุตสาหกรรมการจัดการเพื่อสิ่งแวดล้อม ส.อ.ท.ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานการจัดการกากอุตสาหกรรมภายใต้โครงการยกระดับมาตรฐานการประกอบการรับบำบัดกำจัดกากอุตสาหกรรมของ กรอ.
“การพิจารณาอนุญาตเดิมใช้เวลา 10-30 วันก็จะเหลือแค่ 3 นาที อย่างไรก็ตาม การอนุญาตแบบนี้จะรองรับเฉพาะการขออนุญาต สก.2 ที่ยื่นผ่านทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์เท่านั้น” นายมงคลกล่าว
นายเจน นำชัยศิริ ประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่า โครงการนำร่องการอนุญาตนำสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วออกนอกบริเวณโรงงานโดยระบบอิเล็กทรอนิกส์ระยะแรกจะใช้เวลาดำเนินงาน 6 เดือน นับจากวันที่ลงนามในบันทึกความเข้าใจ อย่างไรก็ตาม เมื่อโครงการนำร่องนี้เสร็จจะมีการนำระบบการพิจารณาอนุญาตกากอุตสาหกรรมโดยปัญญาประดิษฐ์ไปขยายผลใช้กับกลุ่มผู้ประกอบการรับบำบัดกำจัดของเสียได้ทั้งหมด
ทั้งนี้ บริษัทที่นำร่องได้แก่ 1. บริษัท บางปู เอนไวรอนเมนทอล คอมเพล็กซ์ จำกัด 2. บริษัท อีสเทิร์น ซีบอร์ด เอนไวรอนเมนทอล คอมเพล็กซ์ จำกัด 3. บริษัท สุขเจริญทรัพย์ วังเย็น จำกัด 4. บริษัท เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน จำกัด (มหาชน) 5. บริษัท อัคคีปราการ จำกัด (มหาชน) 6. บริษัท ปูนซีเมนต์นครหลวง จำกัด (มหาชน) 7. บริษัท อินทรี อีโคไซเคิล จำกัด 8. บริษัท ปูนซีเมนต์ไทย (แก่งคอย) จำกัด 9. บริษัท เอส ซีไออีโค่ เซอร์วิสเซส จำกัด 10. บริษัท บริหารและพัฒนาเพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม จำกัด (มหาชน) 11. บริษัท ทีเออาร์เอฟ จำกัด 12. บริษัท ไมโครไบโอเทค จำกัด 13. บริษัท ทีพีไอโพลีน จำกัด (มหาชน)