xs
xsm
sm
md
lg

กรมโรงงานฯ นำร่อง 15 จังหวัด เข้าร่วมเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายมงคล พฤกษ์วัฒนา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม
กรมโรงงานอุตสาหกรรม เผยความคืบหน้าโครงการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Industrial Town) เริ่มนำร่อง 15 จังหวัด คาดเสร็จสิ้นปี 2564 พร้อมเตรียมผลักดันให้โรงงานในพื้นที่นำร่องได้เข้าร่วมโครงการ Green Industry, CSR DIW และ Eco Factory เพื่อให้เกิดการยกระดับการผลิตเพื่อสิ่งแวดล้อม และการใช้พลังงานอย่างคุ้มค่า

นายมงคล พฤกษ์วัฒนา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่า จากการที่รัฐบาลให้กรมโรงงานอุตสาหกรรมดำเนินโครงการ พัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Industrial Town) โดยเป็นการบูรณาการงบประมาณระหว่างหน่วยงานราชการต่างๆเพื่อใช้งบประมาณให้สอดคล้องกับมิติยุทธศาสตร์ของรัฐบาล โดยขณะนี้กรมโรงงานอุตสาหกรรม ได้ดำเนินการโครงการนำร่อง ใน 15 จังหวัด เช่น จังหวัดระยอง สมุทรปราการ สมุทรสาคร ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา ปทุมธานี ชลบุรี นครปฐม พระนครศรีอยุธยา สระบุรี นครราชสีมา ขอนแก่น ราชบุรี สงขลา และสุราษฏร์ธานี โดยปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนในการส่งเสริมให้โรงงานเข้าร่วมโครงการ Green Industry, CSR DIW และ Eco Factory เพื่อยกระดับการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม  ความปลอดภัย การประหยัดพลังงาน ทำให้กระบวนการผลิตเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและมีการใช้พลังงานและทรัพยากรอย่างคุ้มค่าโดยคำนึงถึงคนรุ่นต่อไป ทั้งนี้ คาดว่าเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ 15 จังหวัดในระยะแรกจะเสร็จสิ้นภายในปี 2564

อย่างไรก็ตาม การใช้งบประมาณแบบบูรณาร่วมกันของหน่วยงานต่างๆ โดยกำหนดเป้าหมายในพื้นที่ที่กำหนด เพื่อให้เห็นผลและมีประสิทธิภาพจากการใช้งบประมาณ ซึ่งจะต่างจากเดิมที่หน่วยงานราชการต่างหน่วยงานต่างใช้งบประมาณของตัวเอง จึงทำให้งบประมาณถูกใช้กระจัดกระจาย ไม่มีประสิทธิภาพและเห็นผลในเชิงพื้นที่

สำหรับแผนปฏิบัติงบประมาณแบบบูรณาการในครั้งนี้ ได้ให้ผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่ ได้แก่ หน่วยงานราชการส่วนท้องถิ่น ภาคชุมชน ภาคอุตสาหกรรม และตัวแทนภาคการศึกษา เข้ามาดำเนินการเขียนแผนปฏิบัติการบูรณการงบประมาณร่วมกันแบบให้ครอบคลุมทั้ง 5 มิติ คือ มิติโครงสร้างพื้นฐาน เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม สังคม และการบริหารจัดการ เช่น การทำความสะอาดเมือง การขุดลอกคูคลอง การปลูกป่าเพิ่มพื้นที่สีเขียว การพัฒนาฝึกฝีมือให้กับชุมชน เพื่อสนับสนุนให้มีการจ้างงานของคนในพื้นที่ การพัฒนาอาชีพชุมชน ให้มีความเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรม การแก้ไขปัญหาเรื่องการเข้าถึงด้านสาธารณสุขอันเนื่องมาจากการเพิ่มของประชากรแฝงจากภาคอุตสาหกรรม การจัดตั้งศูนย์ Eco Center และการส่งเสริมให้เกิดธุรกิจบำบัด/กำจัด/รีไซเคิล เป็นต้น
ใช้งบประมาณแบบบูรณาการ สร้างงานให้กับชาวบ้านชุมชน
นายมงคลกล่าวต่อว่า กรมโรงงานอุตสาหกรรมยังได้ส่งเสริมให้โรงงานในพื้นที่เป้าหมายได้รับการรับรองมาตรฐาน Green Industry ,CSR DIW และ Eco Factory (ตามมาตรฐาน ISO2600) โดยมีการตรวจประเมินโดยผู้ชำนาญการที่ผ่านการรับรองระบบตามมาตรฐาน เพื่อยกระดับให้เป็นโรงงานผลิตสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและมีความปลอดภัย มีการใช้พลังงานและทรัพยากรอย่างคุ้มค่ามีการนำของเสียกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ ลดการฝังกลบ ซึ่งมีโรงงานที่รับได้มาตรฐาน Green Industry ไปแล้วกว่า 25,410 โรงงาน จาก 65,000 โรงงาน มาตรฐาน CSR DIW 836 โรงงาน และ มาตรฐาน Eco Factory 73 โรงงาน

ทั้งนี้ การจัดการทำแผนปฏิบัติ โดยแต่ละจังหวัดจะมีโครงการนำร่องในปี 2559 เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดจากผลกระทบจากภาคอุตสาหกรรม ซึ่งแผนปฏิบัติการอยู่ในระหว่างการดำเนินการและปรับปรุงให้เข้ากับพื้นที่เป้าหมายต่างๆ และเห็นผลเป็นรูปธรรมได้ประมาณ ปี2561-2564 ดันมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวม 5.3 ล้านล้านบาท ส่วนผู้ที่สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน กรมโรงงานอุตสาหกรรม โทร. 0-2202-4093 หรือสอบถามข้อมูลโครงการอื่นๆ ของกรมโรงงานอุตสาหกรรม โทร. 0-2202-4014 หรือเข้าไปที่ www.diw.go.th

* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SMEs ผู้จัดการ” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *


กำลังโหลดความคิดเห็น