กรมโรงงานอุตสาหกรรม จัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือและติดตามโรงงานที่ขาดการจัดการกากอุตสาหกรรม 6 แห่งในพื้นที่ 6 ทั่วประเทศไทย มุ่งให้คำปรึกษาและช่วยเหลือผู้ประกอบการ โดยเฉพาะ SMEs ที่ยังไม่เข้าสู่ระบบ ตั้งเป้าหมายพาเข้าเกณฑ์ 90% ในปี 2562
นายมงคล พฤกษ์วัฒนา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่า ปลายปีที่ผ่านมากระทรวงอุตสาหกรรมได้ออกประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง หลักเกณฑ์ดำเนินการสำหรับโรงงานที่ขอต่ออายุใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2558 ส่งผลให้โรงงานที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายกากอุตสาหกรรมจะไม่สามารถต่ออายุใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (ร.ง.4) ได้ ถือเป็นมาตรการทางกฎหมายเพื่อให้โรงงานทยอยเข้าสู่ระบบการจัดการกากอุตสาหกรรม มากกว่า 90% ภายใน 5 ปี หรือ พ.ศ. 2562 ดังนั้น เพื่อช่วยเหลือและให้คำปรึกษาแก่โรงงานที่ยังไม่เข้าสู่ระบบฯ โดยเฉพาะผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) และจะต้องต่ออายุใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน ให้ปฏิบัติได้อย่างถูกต้องและครบถ้วนตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมฉบับดังกล่าว กรมโรงงานฯ จึงได้ร่วมมือกับ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการสารและของเสียอันตราย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดำเนินโครงการ “ศูนย์ช่วยเหลือและติดตามการต่ออายุโรงงานที่ขาดการจัดการกากอุตสาหกรรม” โดยศูนย์ช่วยเหลือฯ มีกระจายอยู่ใน 6 ภูมิภาค ได้แก่ 1. ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการสารและของเสียอันตราย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 2. ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 3. ศูนย์วิจัยด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมและสารอันตราย มหาวิทยาลัยขอนแก่น 4. ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี 5. ภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา และ 6. คณะการจัดการสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
นายมงคลกล่าวต่อว่า ศูนย์ช่วยเหลือฯ ได้จัดทีมเจ้าหน้าที่ประจำที่ศูนย์ฯ ทั้ง 6 แห่ง และจะมีการจัดส่งเจ้าหน้าที่หมุนเวียนไปให้คำแนะนำแก่ผู้ประกอบการที่สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดต่างๆ ทั้ง 76 จังหวัด เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการ นอกจากการให้คำแนะนำด้านปฏิบัติตามกฎหมายแล้วยังให้ความช่วยเหลือแนะนำการใช้ระบบสารสนเทศ Smart form รูปแบบ Web Application ในการกรอกข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับการจำแนกประเภทโรงงานและลักษณะกากอุตสาหกรรมตามลำดับประเภทโรงงาน ซึ่งการดำเนินการเหล่านี้เป็นการช่วยระบุรหัสกากอุตสาหกรรม เพื่อดำเนินการได้รวดเร็วขึ้น
จากการประเมินตัวเลขกากอุตสาหกรรมมีปริมาณ 37.41 ล้านตัน ประกอบด้วย กากอันตราย 2.84 ล้านตัน และกากอุตสาหกรรมไม่อันตราย 34.57 ล้านตัน โดยตั้งแต่เปิดศูนย์ช่วยเหลือและติดตามการต่ออายุโรงงานที่ขาดการจัดการกากอุตสาหกรรมตั้งแต่เดือนมีนาคม ปี 2559 ส่งผลให้ปัจจุบันมีโรงงานที่เข้าสู่ระบบขออนุญาตจัดการกากอุตสาหกรรม (สก.1 และ สก.2) รวมแล้วประมาณ 21,500 โรง จากโรงงานที่อาจจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนทั้งหมดซึ่งเป็นโรงงานจำพวกที่ 3 ประมาณ 69,000 โรง หรือคิดเป็นร้อยละ 31 โดยในจำนวนนี้เป็น SMEs ประมาณ 18,000 โรง หรือคิดเป็นร้อยละ 27 ของ SMEs ทั้งหมด
อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาในมุมของการจัดการกากอุตสาหกรรมอันตราย พบว่า ปัจจุบันมีการขออนุญาตจัดการกากอุตสาหกรรม (สก.1 และ สก.2) และแจ้งการขนส่งรวมประมาณ 7,500 โรง หรือคิดเป็นร้อยละ 10 ของโรงงานทั้งหมด ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2557 ประมาณ 2,200 โรงงาน
ทั้งนี้ การดำเนินงานดังกล่าวเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการดำเนินการตามแผนการจัดการกากอุตสาหกรรม พ.ศ. 2558-2562 คาดว่าหากดำเนินการเป็นไปตามทั้งหมดจะสามารถส่งเสริมสนับสนุนให้กำจัดกากอุตสาหกรรมถูกวิธีอย่างจริงจังและตระหนักถึงเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ พร้อมเพิ่มศักยภาพผู้ประกอบการไทย ให้สามารถดำเนินธุรกิจควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อมได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืนช่วยยกระดับความน่าเชื่อถือด้านมาตรการสิ่งแวดล้อมในสายตาคู่ค้าต่างชาติ และช่วยลดการกีดกันทางการค้า หากไทยมีมาตรฐานความปลอดภัย และสิ่งแวดล้อม
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SMEs ผู้จัดการ” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *