xs
xsm
sm
md
lg

คมนาคมชง ครม.ปฏิรูปรถเมล์โอนขึ้นตรง ขบ. คาดใช้ ม.44 เซตซีโร่สัญญารถร่วมฯ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“คมนาคม” ชง ครม.ยกเลิกมติ ปี 26 เดินหน้าแผนปฏิรูปรถเมล์ โอน ขสมก.-รถร่วมฯ ขึ้นตรงกรมขนส่งฯ เซตซีโร่สัญญาเดินรถ คาดต้องเสนอใช้ ม.44 บริหารสัญญาช่วงเปลี่ยนผ่าน เร่งเส้นทางรถเมล์ใหม่ ตั้งเกณฑ์บริการมาตรฐาน เปิดประมูลวิ่งเชิงคุณภาพ ด้าน ขสมก.ขอเวลา 6 เดือนทยอยสัญญารถร่วมฯ พร้อมเคลียร์หนี้สิน

นายดรุณ แสงฉาย รองปลัดกระทรวงคมนาคม (หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านการขนส่ง) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการปฏิรูปรถเมล์ว่า ขณะนี้ได้เสนอเรื่องไปยังคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อขอยกเลิกมติ ครม.เมื่อวันที่ 11 ม.ค. 2526 ที่ให้องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เป็นผู้เดินรถเพียงรายเดียว และรถร่วมฯ เอกชน ทำสัญญาเข้าร่วมเดินรถกับ ขสมก.แล้ว ทั้งนี้เพื่อสร้างความชัดเจนในบทบาทและแนวทางกำกับดูแลการเดินรถที่แยกหน้าที่การกำกับดูแล (Regulator) และการปฏิบัติ (Operator) ออกจากกัน โดยกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) จะเป็นผู้กำกับดูแล และบริหารสัญญาการเดินรถ ส่วน ขสมก.เป็นผู้ประกอบการรายหนึ่ง โดยคาดว่าจะได้รับการพิจารณาจาก ครม.เร็วๆ นี้

ทั้งนี้ ได้หารือร่วมกับ ขบ., ขสมก. เพื่อเตรียมความพร้อมหลังมีการยกเลิกมติ ครม.ปี 2526 โดย ขสมก.จะต้องเตรียมแผนในการโอนสัญญารถร่วมฯ ไปให้ ขบ.ภายใน 6 เดือน เช่น ปัญหาหนี้สินของรถร่วมฯ ที่ค้างชำระกับ ขสมก.จะต้องดำเนินการให้เรียบร้อยหรือมีข้อตกลงที่ชัดเจน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการเรียกร้องในอนาคต โดยเมื่อโอนรถร่วมฯ มาที่ ขบ.ซึ่งถือเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านแล้วจะต้องมีแนวทางในการบริหารการเดินรถใหม่ เช่น เปิดประมูลเส้นทางใหม่ ซึ่งจะมีการจัดสรรเส้นทางเดินรถเมล์ใหม่ทั้งหมด นอกจากนี้ ขบ.จะต้องพิจารณาแนวทางในระยะยาวที่จะมีการโอนรถเมล์ให้แก่กรุงเทพมหานคร (กทม.) ซึ่งเป็นหน่วยงานท้องถิ่นเป็นผู้บริหารการเดินรถให้บรรลุเป้าหมายและไม่มีปัญหาอุปสรรคด้วย

นายจิรุตม์ วิศาลจิตร รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) กล่าวว่า หลักการคือ เมื่อโอนการเดินรถมาให้ ขบ.ดูแล จะมีประเด็นเรื่องใบอนุญาตที่ตาม พ.ร.บ. ... ที่กำหนดให้ต่ออายุครั้งละ 7 ปี ซึ่งในช่วงเปลี่ยนผ่าน ที่ ขบ.จะจัดสรรเส้นทางและหาผู้ประกอบการในการเดินรถแต่ละเส้นทางใหม่นั้น ใบอนุญาตของผู้ประกอบการแต่ละรายจะทยอยหมดอายุไม่พร้อมกัน ต้องมีการเริ่มสัญญากันใหม่ซึ่งต้องเซตซีโร่โดยการต่ออายุใบอนุญาตควรจะเป็นช่วงสั้นๆ 6 เดือนไม่เกิน 1 ปี ดังนั้นจะต้องมีเครื่องมือพิเศษเพื่อยกเว้นการปฏิบัติตาม พ.ร.บ. เช่น มาตรา 44 เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการจัดสรรเส้นทางเดินรถใหม่ขณะนี้คืบหน้ากว่า 90% แล้ว โดยนอกจากปรับระยะทางวิ่งให้ลดลงไม่เกิน 30 กม.เพราะจะมีความคุ้มค่าของรายได้มากกว่า เดิมที่บางเส้นทาง วิ่งเกิน 30-40 กม.แล้วจะปรับเส้นทางให้รถเมล์เป็นฟีดเดอร์ของโครงข่ายรถไฟฟ้าด้วย ส่วนการคัดเลือกผู้ประกอบการเข้าสู่ตลาดจะใช้รูปแบบประมูลเชิงคุณภาพ โดยรัฐกำหนดเงื่อนไข หลักเกณฑ์ มาตรฐานการบริการ ทั้งสภาพรถ, อู่จอดรถ เป็นต้น โดยเลือกรายที่เสนอเงื่อนไขการให้บริการดี ไม่ใช่เลือกรายที่ให้ผลตอบแทนสูง เพราะกิจการสาธารณะต้องไม่หวังกำไร ไม่เช่นนั้นผู้ประกอบการจะกลับไปแข่งขันเพื่อบริหารต้นทุนในรูปแบบเดิมๆ ประชาชนไม่ได้รับบริการที่ดี โดยอาจจะทยอยประมูลเส้นทางที่หมดสัญญาก่อนเป็นกลุ่มนำร่อง

โดยปัจจุบันรถเมล์มี 210 เส้นทาง (ขสมก.เดินรถให้บริการจำนวน 105 เส้นทางรถร่วมบริการเอกชนเดินรถ จำนวน 105 เส้นทาง) เบื้องต้นจะมีการปฏิรูปเหลือ 172 เส้นทาง (แบ่งเป็น ขสมก.87 เส้นทาง รถร่วมเอกชน 85 เส้นทาง)
กำลังโหลดความคิดเห็น