xs
xsm
sm
md
lg

ชงครม.โอนรถเมล์ ขึ้นตรงกรมขนส่ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

คมนาคมชง ครม.ยกเลิกมติปี 26เดินหน้าปฎิรูปรถเมล์ โอน ขสมก.-รถร่วมฯขึ้นตรงกรมขนส่งฯ เซทซีโร่สัญญาเดินรถ คาดต้องใช้ม.44 บริหารสัญญาช่วงเปลี่ยนผ่าน ด้าน ขสมก.ขอเวลา 6 เดือน สัญญารถร่วมฯ-เคลียร์หนี้สิน

นายดรุณ แสงฉาย รองปลัดกระทรวงคมนาคม (หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านการขนส่ง) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการปฏิรูปรถเมล์ว่า ขณะนี้ได้เสนอเรื่องไปยังคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อขอยกเลิกมติ ครม. เมื่อวันที่ 11 ม.ค. 2526 ที่ให้ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เป็นผู้เดินรถเพียงรายเดียว และรถร่วมฯเอกชนทำสัญญาเข้าร่วมเดินรถกับ ขสมก.แล้ว

ทั้งนี้ เพื่อสร้างความชัดเจนในบทบาทและแนวทางกำกับดูแลการเดินรถ ที่แยกหน้าที่การกำกับดูแล (Regulator) และ การปฏิบัติ (Operator) ออกจากกัน โดยกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) จะเป็นผู้กำกับดูแล และบริหารสัญญาการเดินรถ ส่วน ขสมก. เป็นผู้ประกอบการรายหนึ่ง โดยคาดว่าจะได้รับการพิจารณาจาก ครม.เร็วๆ นี้

ทั้งนี้ ได้หารือร่วมกับ ขบ.,ขสมก. เพื่อเตรียมความพร้อมหลังมีการยกเลิกมติ ครม.ปี 2526โดย ขสมก.จะต้องเตรียมแผนในการโอนสัญญารถร่วมฯ ไปให้ ขบ.ภายใน 6 เดือน เช่น ปัญหาหนี้สินของรถร่วมฯ ที่ค้างชำระกับ ขสมก. จะต้องดำเนินการให้เรียบร้อยหรือมีข้อตกลงที่ชัดเจน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการเรียกร้องในอนาคต โดยเมื่อโอนรถร่วมฯ มาที่ ขบ.ซึ่งถือเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านแล้ว จะต้องมีแนวทางในการบริหารการเดินรถใหม่ เช่น เปิดประมูลเส้นทางใหม่ ซึ่งจะมีการจัดสรรเส้นทางเดินรถเมล์ใหม่ทั้งหมด

นอกจากนี้ ขบ. จะต้องพิจารณาแนวทางในระยะยาว ที่จะมีการโอนรถเมล์ ให้กับกรุงเทพมหานคร (กทม.) ซึ่งเป็นหน่วยงานท้องถิ่นเป็นผู้บริหารการเดินรถ ให้บรรลุเป้าหมายและไม่มีปัญหาอุปสรรคด้วย

นายจิรุตม์ วิศาลจิตร รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) กล่าวว่า หลักการคือ เมื่อโอนการเดินรถมาให้ ขบ. ดูแล จะมีประเด็นเรื่องใบอนุญาตที่ตามพ.ร.บ....ที่กำหนดให้ต่ออายุครั้งละ 7 ปี ซึ่งในช่วงเปลี่ยนผ่าน ที่ขบ.จะจัดสรรเส้นทางและหาผู้ประกอบการในการเดินรถแต่ละเส้นทางใหม่นั้น ใบอนุญาตของผู้ประกอบการแต่ละรายจะทยอยหมดอายุไม่พร้อมกัน ต้องมีการเริ่มสัญญากันใหม่ ซึ่งต้องเซทซีโร่ โดยการต่ออายุใบอนุญาตควรจะเป็นช่วงสั้นๆ 6 เดือนไม่เกิน 1 ปี ดังนั้นจะต้องมีเครื่องมือพิเศษเพื่อยกเว้นการปฎิบัติตามพ.ร.บ. เช่น มาตรา 44 เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการจัดสรรเส้นทางเดินรถใหม่ขณะนี้คืบหน้ากว่า 90% แล้ว โดยนอกจากปรับระยะทางวิ่งให้ลดลง ไม่เกิน30 กม.เพราะจะมีความคุ้มค่าของรายได้มากกว่า เดิมที่บางเส้นทาง วิ่งเกิน30-40 กม. แล้ว จะปรับเส้นทางให้รถเมล์เป็นฟีดเดอร์ของโครงข่ายรถไฟฟ้าด้วย ส่วนการคัดเลือกผู้ประกอบการเข้าสู่ตลาด จะใช้รูปแบบประมูลเชิงคุณภาพ โดยรัฐกำหนดเงื่อนไข หลักเกณฑ์ มาตรฐานการบริการ ทั้งสภาพรถ,อู่จอดรถ เป็นต้น โดยเลือกรายที่เสนอเงื่อนไขการให้บริการดี ไม่ใช่เลือกรายที่ให้ผลตอบแทนสูง เพราะกิจการสาธารณะต้องไม่หวังกำไร ไม่เช่นนั้นผู้ประกอบการจะกลับไปแข่งขันเพื่อบริหารต้นทุนในรูปแบบเดิมๆ ประชาชนไม่ได้รับบริการที่ดี โดยอาจจะทยอยประมูลเส้นทางที่หมดสัญญาก่อนเป็นกลุ่มนำร่อง

โดยปัจจุบันรถเมล์มี210 เส้นทาง (ขสมก.เดินรถให้บริการจำนวน 105 เส้นทางรถร่วมบริการเอกชนเดินรถ จำนวน 105 เส้นทาง) เบื้องต้นจะมีการปฏิรูปเหลือ 172 เส้นทาง ลดความซ้ำซ้อน (แบ่งเป็น ขสมก. 87 เส้นทาง รถร่วมเอกชน 85 เส้นทาง).
กำลังโหลดความคิดเห็น