พีอีเอ เอ็นคอมฯ ตั้งเป้าปี 60 ลงทุนพลังงานทดแทนทั้งในและต่างประเทศเพิ่มอีก 50-100 เมกะวัตต์ โดยสนใจยื่นเสนอขายไฟฟ้าจากขยะชุมชนหลายโครงการ รวมทั้งจับมือพันธมิตรลุยโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่พม่าและญี่ปุ่น
วันนี้ (21 ก.ย.) บริษัท พีอีเอ เอ็นคอม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด บริษัทลูกของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (พีอีเอ) ลงนามสัญญาความร่วมมือกับบริษัท ฟ้าชัย วิศวกรรม จำกัด ซึ่งเป็นตัวแทนจำหน่ายผลิตภัณฑ์และให้บริการแบบครบวงจรเกี่ยวกับระบบพลังงานแสงอาทิตย์สู่ตลาดเมืองไทยผ่าน PEA Shop ทั่วประเทศ
นายพัลลภ ภิญโญวิวัฒน์ รักษาการ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีอีเอ เอ็นคอม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด เปิดเผยว่า ในปี 2560 บริษัทฯ ตั้งเป้าหมายที่จะเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าพลังงานทดแทนทั้งในและต่างประเทศอีก 50-100 เมกะวัตต์ ใช้เงินลงทุนเมกะวัตต์ละ 50-100 ล้านบาท จากปัจจุบันที่ได้ร่วมทุนทำโครงการโซลาร์ฟาร์มในไทยและจ่ายไฟเชิงพาณิชย์แล้วคิดเป็นกำลังการผลิต 35 เมกะวัตต์
ส่วนการลงทุนพลังงานทดแทนในประเทศนั้น บริษัทฯ มีแผนจับมือพันธมิตรเพื่อยี่นเสนอขายไฟฟ้าในโครงการผลิตไฟฟ้าจากขยะชุมชนในหลายจังหวัด อาทิ ร่วมลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าขยะชุมชนที่จังหวัดอยุธยา กำลังการผลิต 5 เมกะวัตต์ และอีกจังหวัดจะมีกำลังการผลิตไม่เกิน 10 เมกะวัตต์ คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ในปี 2560 และจ่ายไฟเชิงพาณิชย์ได้ในปี 2562
ขณะที่โครงการลงทุนในต่างประเทศนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาการลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ประเทศเมียนมาและญี่ปุ่น โดยจะร่วมทุนกับบริษัทเอกชนไทยและท้องถิ่นลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่เมียนมา กำลังผลิตรวม 200 เมกะวัตต์ โดยเฟสแรกจะลงทุน 50 เมกะวัตต์ก่อนและที่เหลือจะทยอยลงทุนให้ครบ 200 เมกะวัตต์ ซึ่งพีอีเอ เอ็นคอมฯ จะถือหุ้นในโครงการไม่เกิน 25% ด้านโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ญี่ปุ่น เล็งการลงทุนขนาด 200 เมกะวัตต์ ก็อยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ คาดว่าปีหน้าจะมีความชัดเจนว่าในการลงทุน
นายโชติทิวัตถ์ จิรภัทรพุฒิธนา กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟ้าชัย วิศวกรรม จำกัด กล่าวว่า ปัจจุบันต้นทุนการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ลดลงต่ำลงมาก ทำให้สามารถผลิตไฟฟ้าใช้เองภายในครัวเรือนได้ และในอนาคตหากมีไฟฟ้าเหลือใช้ยังสามารถขายกลับเข้าสู่ระบบได้ รวมทั้งการพัฒนาแบตเตอรี่กักเก็บพลังงานจะเป็นตัวช่วยปิดจุดอ่อนของพลังงานแสงอาทิตย์โดยกักเก็บพลังงานไฟฟ้าจากช่วงกลางวันมาใช้ในเวลากลางคืนได้
ทั้งนี้ ฟ้าชัย วิศวกรรม เป็นตัวแทนจำหน่ายอุปกรณ์โซลาร์ อินเวอร์เตอร์แบรนด์ KACO new energy จากเยอรมนี, แผงโซลาร์เซลล์ แบรนด์ Hanwha Solar จากเกาหลีใต้ และชุดอุปกรณ์ขายึดแผงโซลาร์เซลล์ แบรนด์ Clenergy จากออสเตรเลีย รวมทั้งยังให้บริการแบบครบวงจร (EPC) ตั้งแต่กำลังการผลิตเป็นกิโลวัตต์ไปจนถึงเมกะวัตต์