กระทรวงอุตสาหกรรมจับมือ สอท.คลอดยุทธศาสตร์อุตสาหกรรม 20 ปี เตรียมเสนอ 5 ยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนอุตสาหกรรม 4.0 เสนอ “ครม.” เห็นชอบเร็วๆ นี้ พร้อมเตรียมเสนอคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติขยายประเภทผลิตภัณฑ์ขั้นปลายปาล์มน้ำมันครอบคลุม OLEO
นายสมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมและสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ร่วมกันจัดทำแผนยุทธศาสตร์อุตสาหกรรม 20 ปี ในช่วงปี 2560-2579 เสร็จแล้ว และนำเสนอให้นางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม พิจารณาเพื่อปรับแก้ไขก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาในเร็วๆ นี้ ซึ่งเป็นแผนยุทธศาสตร์ที่จัดทำขึ้นเพื่อสนับสนุนนโยบายประเทศไทย 4.0 ของรัฐบาลผ่านการขับเคลื่อนอุตสาหกรรม 4.0
ทั้งนี้ ภายใต้แผนดังกล่าวจะประกอบด้วย 5 ยุทธศาตร์สำคัญที่จะขับเคลื่อน ได้แก่ ยุทธศาสตร์ที่ 1 การยกระดับและสร้างนักรบอุตสาหกรรมพันธุ์ใหม่ให้เป็นกลไกหลักทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ยุทธศาสตร์ที่ 2 การปฏิรูปนิเวศอุตสาหกรรมเพื่อการปรับปรุงสภาพแวดล้อมและการสร้างนวัตกรรม ยุทธศาสตร์ที่ 3 ยุทธศาสตร์ผลักด้นการเชื่อมโยงอุตสาหกรรมไทยให้เป็นส่วนสำคัญของเศรษฐกิจโลก เป้าหมายแรกคือ CLMVT ซึ่งหมายถึง กัมพูชา ลาว พม่า เวียดนาม และประเทศไทย โดยเบื้องต้นจะต้องให้เอสเอ็มอีสามารถออกไปเปิดตลาดในประเทศเพื่อนบ้านกลุ่ม CLMV ได้ ด้านการผลิตจากการรับจ้างผลิตหรือ OEM ไปมีการมีตราสินค้าหรือแบรนด์ของตัวเอง เป็นต้น ยุทธศาสตร์ที่ 4 การพัฒนากำลังคนให้ตรงกับงานภาคอุตสาหกรรม และยุทธศาสตร์ที่ 5 การพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานเพื่อสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรม 4.0 ของประเทศ
ทั้งนี้ โจทย์ท้าทายที่สำคัญอีกหลายด้านที่จะต้องแก้ เช่น การเพิ่มอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ (จีดีพี) ที่จะต้องเพิ่มจาก 3-3.5% ให้เพิ่มขึ้นไปอยู่ในระดับ 4-5% ต่อปี การแก้ไขข้อจำกัดการที่ประเทศกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุให้ได้ เป็นต้น และการขับเคลื่อนอุตสาหกรรม 4.0 จะดำเนินผ่านเครือข่ายประชารัฐ โดยใช้ความรู้ใหม่ การสร้างสรรค์สิ่งใหม่ การจัดหาภายนอก ไปสู่ภาคเศรษฐกิจ สังคม ชุมชน และท้องถิ่น พร้อมกับการเพิ่มผลิตภาพ และสร้างนวัตกรรมในกลุ่มผู้ประกอบการให้ได้เป็นต้น
นอกจากนี้ เร็วๆ นี้กระทรวงอุตสาหกรรมจะเสนอคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติที่มี พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเป็นประธาน เพื่อพิจารณาขยายประเภทผลิตภัณฑ์ขั้นปลายปาล์มน้ำมัน เพื่อรองรับอุตสาหกรรมแห่งอนาคต หรือ S Curve ในกลุ่มอุตสาหกรรมเคมี โดยให้ครอบคลุมถึงการผลิต OLEO ที่จะสามารถนำไปผลิตผลิตภัณฑ์ต่อเนื่องได้อย่างหลากหลาย เช่น กลีเซอรีน ที่จะสามารถนำไปผลิตผลิตภัณฑ์กลุ่มเครื่องสำอางได้ เป็นต้น ซึ่งจะช่วยเพิ่มความต้องการปาล์มน้ำเป็นวัตถุดิบที่มากขึ้นกว่าเดิม และช่วยลดแรงกดดันราคาในตลาดโลกได้อีกทางหนึ่ง ซึ่งจะส่งผลดีต่อระดับราคาปาล์มน้ำมันให้ดีขึ้นได้อีกทางหนึ่งด้วย