“คมนาคม” ชง ครม.ตุลาฯ นี้ เคาะแผนแม่บทพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ ก่อนขับเคลื่อนโครงการขนาดใหญ่ “ปากบารา-แลนด์บริดจ์” แบ่งเฟสทยอยลงทุน หนุนนำเข้า-ส่งออก ชะลออุตฯ หนัก ลดแรงต้นในพื้นที่ ขณะที่ผลศึกษาชี้ 5-10 ปี ต้องเน้นอุตฯ ท่องเที่ยวและอุตฯ เกษตรแปรรูป ระบุท่องเที่ยวสัดส่วนรายได้ถึง 80%
นายพีระพล ถาวรสุภเจริญ รองปลัดกระทรวงคมนาคม (หัวหน้ากลุ่มภารกิจหารพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านทางหลวง) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดการสัมมนาครั้งที่ 2 เพื่อรับฟังความคิดเห็นต่อร่างรายงานฉบับสมบูรณ์ การศึกษาผลกระทบเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Environment Assessment : SEA) สำหรับการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ ว่ารัฐบาลให้ความสำคัญในการพัฒนาพื้นที่ภาคใต้ตั้งแต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่11 โดยในส่วนของกระทรวงมีแผนพัฒนา เช่น โครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา ท่าเรือสงขลา 2 โครงการแลนด์บริดจ์ (สะพานเศรษฐกิจเชื่อมโยงทะเลอันดามัน และอ่าวไทย) เป็นต้น แต่ไม่สามารถดำเนินงานได้แผนเนื่องจากประชาชนในพื้นที่ไม่ยอมรับ เพราะขาดการบูรณาการ ขาดกระบวนการเรียนรู้ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้รับข้อมูลการพัฒนาไม่ชัดเจน ซึ่งการศึกษา SEA จะประเมินผลกระทบในภาพรวม รับฟังความเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วนในทุกมิติ เพื่อร่วมกำหนดทิศทางการพัฒนา
“รายงาน SEA ฉบับสมบูรณ์จะเป็นแผนแม่บทแนวทางในการพัฒนาโครงการต่างๆ ของภาครัฐ ส่วนกรณีท่าเรือปากบารา ขณะนี้กรมเจ้าท่ากำลังศึกษาการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นจากการพัฒนาโครงการ (EHIA) จะแล้วเสร็จปี 2560 ส่วนแลนด์บริดจ์ได้ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) แล้ว แต่เนื่องจากยังมีข้อกังวลเรื่องอุตสาหกรรมหนัก ทางสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) จึงได้ให้กระทรวงคมนาคมทำความเข้าใจในพื้นที่เพิ่มเติม ซึ่งแผนพัฒนาแลนด์บริดจ์ ในส่วนของทางรถไฟระยะแรก จะเป็นทางเดี่ยวเพื่อเชื่อมปากบารา-หาดใหญ่ ซึ่งการพัฒนาเกษตรแปรรูปในพื้นที่ภาคใต้จะต้องอาศัย ท่าเรือและระบบการขนส่งเพื่อสนับสนุนการนำเข้า-ส่งออก”
นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กล่าวว่า ผลศึกษาพบว่า แนวทางที่เหมาะสม คือ การพัฒนาตามศักยภาพของพื้นที่ภาคใต้ที่มีอยู่ในปัจจุบันให้เต็มที่ โดยเน้นด้านอุตสาหกรรมท่องเที่ยว สร้างแหล่งท่องเที่ยวใหม่และเพิ่มรายจ่ายต่อหัว, พัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป และการพัฒนาทศักยภาพด้านอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล อุตสาหกรรมไฮเทค 4.0 และการพัฒนาคมนาคมขนส่งและลอจิสติกส์พลังงานทดแทน ภายใต้การพัฒนาตามแผนแม่บทการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ พ.ศ. 2560-2579 โดยจะแบ่งการดำเนินงานช่วงละ 5 ปี คาดว่าโครงการดังกล่าวจะเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจของภาคใต้ได้ประมาณ 3.5-5% ของ GDP
การศึกษา SEA พัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ ครอบคลุมพื้นที่ทะเลฝั่งอ่าวไทยและฝั่งอันดามัน ครอบคลุม 6 จังหวัด คือ ชุมพร ระนอง นครศรีธรรมราช กระบี่ สงขลา และสตูล โดยจะสรุปร่างรายงานฉบับสมบูรณ์ เสนอกระทรวงคมสรคา และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในเดือนตุลาคมนี้
สำหรับข้อคิดเห็นจากวงสัมมนา จากโดย ดร.บรรจง ไวทยเมธา รองผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (สำนักงานปัตตานี) ระบุว่า ควรให้ความสำคัญต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล ซึ่งปัจจุบันตลาดมีมูลค่าถึง 3.2 ล้านล้านบาท และอัตราเติบโตของรายได้ของประชากรประเทศมุสลิมอยู่ที่ 2.5% เทียบกับรายได้ประชาชนยุโรป ที่ 1.9% ญี่ปุ่น 1.3 % ตลาดใหญ่ของอาหารฮาลาลคือ ตะวันออกกลาง และยุโรป ขณะที่ไทยเป็นผู้ส่งออกอันดับ 10 ของโลกโดยรัฐบาลมีเป้าหมายให้เป็นอันดับ5 ในปี 2563
ด้าน รศ.ดร.สมพงษ์ ศิริโสภณศิลป์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านคมนาคมขนส่งและลอจิสติกส์ กล่าวว่า การพัฒนาโครงข่ายคมนาคมขนส่งและลอจิสติกส์จะต้องออกแบบให้สอดคล้องกับวิถีการค้าการท่องเที่ยว การพัฒนาด้านสังคมในพื้นที่ เพื่อให้ระบบขนส่งสนับสนุนวิถีการทำมาหากินเช่นจะพัฒนาท่องเที่ยวชุมชน หรือการเกษตรแปรรูป
ต้องมีถนนสายรองที่พร้อมรองรับ เพราะที่ผ่านมาภาครัฐจะเน้นถนนสายหลัก และทำถนนไปก่อนโดยยังไม่มีธุรกิจหรือ Business Model ในพื้นที่เลย หลังจากนี้จะต้องปรับแนวคิดใหม่เพราะที่ผ่านมา เปรียบเหมือนซื้อรถบรรทุกก่อนทั้งที่ยังไม่รู้จะขนส่งอะไร