“กรมเจ้าท่า” เดินเกมสร้างความเข้าใจ ดันก่อสร้างท่าเรือปากบารา “ออมสิน” ย้ำนโยบายผลักดันเพื่อสร้างท่าเรือฝั่งอันดามันเชื่อมแลนด์บริดจ์ ลดต้นทุนขนส่ง “อธิบดีกรมเจ้าท่า” เผยชาวบ้านเสนอปรับแบบฐานรากท่าเทียบเรือเป็นเสาเข็ม เร่งศึกษาเปรียบเทียบยอมรับเทคนิคทำได้ไม่กระทบสิ่งแวดล้อม แต่อาจกระทบเรื่องความปลอดภัยของท่าเรือ
นายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในพิธีวันคล้ายวันสถาปนากรมเจ้าท่า (จท.) ครบรอบ 157 ปี วันที่ 5 ส.ค.ว่า ขณะนี้กรมเจ้าท่าอยู่ระหว่างศึกษาทบทวนสำรวจออกแบบรายละเอียดและศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมในรายละเอียด (EHIA) เพื่อก่อสร้างท่าเรือน้ำลึก จังหวัดสตูล (ท่าเรือปากบารา) จะต้องทำประชาพิจารณาให้ความรู้ความเข้าใจกับประชาชนในท้องถิ่น เพื่อให้เห็นด้วยและสนับสนุนการก่อสร้างท่าเรือ ที่นอกจากสร้างท่าเรือปากบาราแล้วยังจะมีแลนด์บริดจ์เชื่อมจากท่าเรือปากบาราไปท่าเรือสงขลา 2 ได้ ซึ่งแลนด์บริดจ์จะลดระยะทางในการขนส่งสินค้าต่างๆ ไม่ต้องอ้อมแหลมมลายูต่อไป สามารถลดต้นทุนการขนส่ง ขนส่งจากทะเลอันดามันผ่านอ่าวไทยและออกไปยังทะเลแปซิฟิกได้ซึ่งจะช่วยพัฒนาเศรษฐกิจทั้งในท้องถิ่นของประเทศด้วย
ส่วนการก่อสร้างท่าเรือรองรับเรือสำราญขนาดใหญ่ (Cruise) จะเริ่มที่เกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานีก่อน โดยได้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษา วงเงิน 44.79 ล้านบาท ศึกษาแล้วคาดว่าจะได้ข้อสรุปในเดือน ก.ย.นี้ โดยจะเร่งทำ EHIA ด้วย คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ประมาณกลางปี 2560 นอกจากนี้ยังมีแผนสร้างท่าเทียบเรือสำราญที่เกาะภูเก็ตด้วย ส่วนที่จังหวัดกระบี่นั้นอาจจะมีลำดับความสำคัญรองลงไปเนื่องจากยังไม่มีองค์ประกอบที่จะสนับสนุนเหมือนเกาะสมุย
สำหรับกรมเจ้าท่านั้น นอกจากมีหน้าที่ในการออกกฎกติกาในการเดินเรือเพื่อความปลอดภัยแล้ว ยังมีหน้าที่ในการก่อสร้างท่าเรือต่างๆ ซึ่งเมื่อก่อสร้างเสร็จตามระเบียบจะต้องมอบให้กรมธนารักษ์ แต่ที่ผ่านมากรมธนารักษ์มีกรอบกำหนดผลตอบแทนค่อนข้างสูงซึ่งไม่จูงใจเอกชนเข้ามาบริหารท่าเรือ ดังนั้นจึงได้มอบหมายให้อธิบดีกรมเจ้าท่าหารือกับอธิบดีกรมธนารักษ์หาทางลดหย่อนเงื่อนไขกติกาต่างๆ เพื่อให้จูงใจเอกชนมากขึ้น
“เจ้าท่า” เดินหน้าทำความเข้าใจ ก่อสร้างท่าเรือปากบาราตามแผน
นายศรศักดิ์ แสนสมบัติ อธิบดีกรมเจ้าท่า กล่าวว่า ภายในเดือน ส.ค.นี้จะมีการพูดคุยกับชาวบ้านเฉพาะกลุ่มเพื่อทำความเข้าใจให้ข้อมูลเชิงลึกในโครงการก่อสร้างท่าเรือปากบารา จากนั้นจะชี้แจงรายละเอียดของแบบก่อสร้างเส้นทางรถไฟเพื่อทำประชาสัมพันธ์ต่อไป ปัจจุบันการคัดค้านในส่วนของท่าเรือมีน้อยลง โดยชาวบ้านส่วนใหญ่เข้าใจมากขึ้น ล่าสุดประชาชนในพื้นที่ได้เสนอให้ปรับรูปแบบก่อสร้างท่าเรือ จากเดิมที่ก่อสร้างสะพานยื่นออกไปในทะเลประมาณ 2 กม. และก่อสร้างท่าเทียบเรือ โดยมีกำแพงกันคลื่นล้อมรอบทั้ง 4 ด้านของท่าเทียบเรือ โดยมีการถมทะเลในส่วนที่เป็นฐานท่าเทียบเรือซึ่งชาวบ้านขอให้ปรับส่วนของฐานรากเป็นเสาเข็มรองรับตัวท่าเทียบเรือแทนการถมทะเล โดยในการศึกษา EHIA จะมีการศึกษาเปรียบเทียบข้อดีและข้อเสียในประเด็นนี้ด้วย เบื้องต้นการก่อสร้างฐานรากของท่าเทียบเรือเป็นแบบเสาเข็ม ค่าก่อสร้างอาจจะเพิ่มขึ้นกว่าแบบเดิมที่ถมทะเล อีกทั้งแบบเสาเข็มจะไม่สามารถทำกำแพงกันคลื่นและลมได้ ทำให้ต้องประเมินเรื่องความปลอดภัยของท่าเทียบเรือร่วมด้วย อย่างไรก็ตาม ทั้ง 2 รูปแบบไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอยู่แล้ว
“เมื่อมีข้อเสนอ กรมฯ พร้อมศึกษาเพิ่มเติมและชี้แจงทำความเข้าใจ ตอนนี้เรื่องท่าเรือไม่ค่อยมีข้อสงสัยแล้ว แต่มีคำถามในส่วนของเส้นทางรถไฟมากกว่า เนื่องจากกังวลและสับสนเรื่องมีการเวนคืนโรงเรียนและกุโบร์ ที่ต้องชี้แจงให้เข้าใจว่าไม่มีการเวนคืน โดยในส่วนของท่าเรือจะสรุปไม่เกินกลางปี 2560 สำหรับการลงทุนยังเป็นแบบเดิม คือ เป็นท่าลึก 14 เมตร แบ่งการก่อสร้างเป็น 3 เฟส โดยเฟสแรกเป็นท่าเทียบเรือคอนเทนเนอร์ มูลค่าลงทุนประมาณ 10,000 ล้านบาท ระยะเวลาก่อสร้าง 2 ปี“
โดยกรมเจ้าท่าได้ลงนามกับกลุ่มที่ปรึกษา บริษัท เอทีที คอนซัลแตนท์ จำกัด, บริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเม้นท์ จำกัด วงเงิน 115,522,422 บาท ศึกษาทบทวนสำรวจออกแบบรายละเอียด และศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมในรายละเอียด (EHIA) ท่าเรือปากบารา ระยะเวลาดำเนินการระหว่าง 29 มี.ค. 2559 - 19 พ.ย. 2560