สนข.ศึกษาแผนแม่บท วางยุทธศาสตร์พัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ลงพื้นที่ฟังเสียงประชาชน เสนอพัฒนาตามศักยภาพของพื้นที่บวกท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ, อุตฯ เกษตรแปรรูป ค้านอุตฯ ปิโตรเคมี เสนอปรับบทบาทท่าเรือปากบารา ชี้ไม่คุ้มค่า
นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยว่า สนข.ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้ทำการศึกษาผลกระทบเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Environmental Assessment : SEA) สำหรับการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย และอันดามัน ซึ่ง สนข.ว่าจ้างที่ปรึกษาวงเงิน 50 ล้านบาท ทำการศึกษาระยะเวลา 12 เดือน (1 ต.ค. 58 - 30 ก.ย. 59) โดยจะมีการยัดทำแผนแม่บทในการพัฒนาพื้นที่เพื่อนำเสนอรัฐบาลสำหรับใช้เป็นกรอบการพิจารณาตัดสินใจในการพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ในพื้นที่ดังกล่าวที่สอดคล้องกับพื้นที่และเป็นที่ยอมรับของประชาชนในพื้นที่
ทั้งนี้ การศึกษาครอบคลุม 6 จังหวัดได้แก่ จังหวัดชุมพร ระนอง นครศรีธรรมราช กระบี่ สงขลา และสตูล โดยจากการลงพื้นที่ และรับฟังความเห็นประชาชน ในแนวทางการพัฒนา 3 ทางเลือก ได้แก่ 1. ดำเนินการตามสภาพปัจจุบัน (Base Growth) ไม่มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจใหม่ๆ 2. พัฒนาตามศักยภาพของพื้นที่ (Full-Potential Growth) ทั้งด้านการท่องเที่ยว อุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป 3. กรณีเร่งอัตราการเติบโต (Accelerated Growth) พัฒนาอุตสาหกรรมใหม่ๆ เพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น แต่ประชาชนในพื้นที่คัดค้าน
นายชัยวัฒน์กล่าวว่า ผลการพิจารณาความเหมาะสม ที่ปรึกษาเสนอแนวทางการพัฒนาตามแนวทางที่ 2 โดยผนวกกับการพัฒนาศักยภาพด้านการท่องเที่ยวที่มีอยู่เดิมให้สูงขึ้น เช่น การสร้างแหล่งท่องเที่ยวใหม่เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว การเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวและการเพิ่มการใช้จ่ายต่อหัวของนักท่องเที่ยว เป็นต้น ซึ่งเป็นทางเลือกในการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้นี้ว่า ทางเลือก 2+ (สองบวก)
นอกจากนี้ ที่ปรึกษาเสนอแนะให้ปรับปรุงบางโครงการที่เกี่ยวข้อง ดังนี้ 1. โครงการเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมปิโตรเลียมและปิโตรเคมี ได้แก่ โครงการท่าเรือ การวางท่อน้ำมัน ควรชะลอไว้ก่อน 2. โครงการท่าเรือปากบารา จ.สตูล เพื่อรองรับ LandBridge ไม่คุ้มค่าการลงทุน ควรปรับเปลี่ยนบทบาทท่าเรือ 3. โครงการท่าเทียบเรือคลองรั้ว จ.กระบี่ รองรับการขนถ่ายถ่านหิน สำหรับโรงไฟฟ้ากระบี่ มีผลกระทบรอบด้าน ต้องพิจารณากฎหมาย และสร้างความเข้าใจต่อชุมชน เพื่อลดผลกระทบซึ่งต้องใช้เวลาและทำต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม ท่าเรือปากบารามีความสำคัญกับยุทธศาสตร์ของประเทศ เพราะจะเป็นเกตเวย์การค้า ซึ่งกรมเจ้าท่า (จท.) มีแนวทางการพัฒนาโดยปรับเป็นท่าเรืออเนกประสงค์ โดยจะลงพื้นที่ใน 2-3 เดือนนี้เพื่อรับฟังประชาชน หากประชาชนยังตอบรับจะมีการทบทวนแบบรายละเอียดในปีหน้า ทั้งนี้ หลักการที่เหมาะสมคือ ทยอยลงทุนหากในอนาคตปริมาณสินค้าเพิ่มค่อยขยายขีดความสามารถรวมถึงสร้างรถไฟเชื่อมต่อ