“พาณิชย์” เตือนผู้ส่งออกรับมือเงื่อนไขการกีดกันทางการค้าที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น หลังประเทศที่พัฒนาแล้วให้ความสำคัญต่อความปลอดภัยของอาหาร สุขอนามัย สิ่งแวดล้อม และแรงงานเพิ่มขึ้น เผยมาตรการเข้มมีทั้งบังคับใช้แล้ว และรอบังคับใช้อีกเพียบ ระบุรอบปี 58 ที่ผ่านมาทุกประเทศงัดมาตรการกีดกันมาใช้รวมกันกว่า 3.5 หมื่นมาตรการ สหรัฐฯ นำโด่ง ตามด้วยอียูและญี่ปุ่น
น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า เปิดเผยว่า ขณะนี้ประเทศคู่ค้าของไทยได้มีการนำมาตรการทางการค้าในรูปแบบต่างๆ มาใช้เพิ่มมากขึ้น โดยมีการนำประเด็นเรื่องความปลอดภัยของอาหาร สุขอนามัย สิ่งแวดล้อม และแรงงาน มาเป็นเงื่อนไข หากไม่ปฏิบัติตามให้ถูกต้องก็จะกระทบต่อการส่งออกสินค้าของไทยไปยังประเทศนั้นๆ ได้ ซึ่งผู้ประกอบการจะต้องศึกษาและเรียนรู้มาตรการเหล่านี้ให้ดี เพราะเป็นแนวโน้มที่ตลาดประเทศที่พัฒนาแล้วจะให้ความสำคัญในเรื่องเหล่านี้เพิ่มมากขึ้นเพื่อป้องกันผลกระทบต่อผู้บริโภค
โดยมาตรการทางการค้าที่ประเทศคู่ค้าได้นำมาใช้ ที่ได้มีผลบังคับใช้แล้วและกำลังจะมีผลบังคับใช้ ได้แก่ สหรัฐฯ ได้ปรับปรุงมาตรการความปลอดภัยทางด้านอาหาร เช่น กฎระเบียบควบคุมเพื่อป้องกันความเสี่ยงในอาหารเพื่อการบริโภค กฎระเบียบป้องกันการปนเปื้อนในอาหารสัตว์ กฎระเบียบมาตรฐานความปลอดภัยการเพาะปลูก เก็บเกี่ยว บรรจุและเก็บรักษาในการผลิตเพื่อการบริโภค บังคับใช้แล้วเมื่อปี 2558 ที่ผ่านมา การกำหนดให้ประเทศผู้ส่งออกต้องยื่นรายชื่อบริษัท และเอกสารการเพาะเลี้ยงและแปรรูปปลา มีผล 1 มี.ค. 2559 - 1 ก.ย. 2560 การกำหนดการติดฉลากสำหรับสูตรอาหารทารก มีผลบังคับ 22 มิ.ย. 2559 การห้ามใช้เม็ดไมโครบิดส์พลาสติกเป็นส่วนประกอบในโฟมล้างหน้า ครีมอาบน้ำและครีมขัดผิว ห้ามผลิต 1 ก.ค. 2560 และห้ามจำหน่าย 1 ก.ค. 2561 และการไม่อนุญาตให้ใช้สาร Partially Hydrogenated Oil : PHOs ในผลิตภัณฑ์อาหาร มีผลวันที่ 18 มิ.ย. 2561
ส่วนสหภาพยุโรป (อียู) กำหนดค่าสูงสุดของสารตะกั่วและสารหนูในสินค้าบริโภค มีผลบังคับ 1 ม.ค.2559 ห้ามจำหน่ายสิ่งทอที่มีส่วนผสมของสาร NPEเท่ากับหรือมากกว่าร้อยละ 0.01 โดยน้ำหนักของสิ่งทอ มีผล 3 ก.พ. 2559 และปรับปริมาณสารเคมีปราบศัตรูพืช 11 รายการที่ตกค้างในสินค้าเกษตร เช่น ametoctradin chlorothalonil flonicamid ซึ่งจะส่งผลต่อการส่งออกสินค้าเกษตรของไทย มีผลบังคับ 11 ก.พ. 2559
ขณะที่ญี่ปุ่นได้จำกัดปริมาณการใช้สาร Alflatoxin M1 ในผลิตภัณฑ์นม สูงสุดไม่เกิน 0.5 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัม บังคับใช้เมื่อวันที่ 23 ม.ค. 2559 และการออกมาตรฐานของเล่นฉบับปรับปรุงใหม่โดยแก้ไขข้อกำหนดทางกายภาพและการติดไฟให้สอดคล้องกับมาตรฐาน ISO 8124-1 และ ISO 8124-2 บังคับใช้เมื่อวันที่ 1 เม.ย. 2559
น.ส.พิมพ์ชนกกล่าวว่า สำหรับการใช้มาตรการกีดกันทางการค้าของประเทศต่างๆ มีข้อมูลจากองค์การการค้าโลก (WTO) ณ วันที่ 30 มิ.ย. 2559 พบว่า ในช่วงปี 2558 ที่ผ่านมา มาตรการทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษีที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ในส่วนมาตรการอุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า (TBT) มีจำนวนมากถึง 21,181 มาตรการ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 53.20% ซึ่งเป็นการนำข้อกำหนดด้านเทคนิคและมาตรฐานต่างๆ เช่น บรรจุหีบห่อ การทำเครื่องหมาย และการปิดฉลาก และมาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช (SPS) จำนวน 14,123 มาตรการ เพิ่มขึ้น 35.47% เป็นการนำเรื่องการควบคุมสินค้าเกษตรและอาหาร ไม่ให้เกิดโทษต่อชีวิต และหรือผลเสียต่อสุขภาพของชีวิตมนุษย์ พืช และสัตว์
ทั้งนี้ ประเทศที่มีการใช้มาตรการสูงสุด เช่น สหรัฐฯ มีการใช้มาตรการ TBT สูงถึง 153 มาตรการ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าที่มีเพียง 96 มาตรการ และมีการใช้มาตรการ SPS 53 มาตรการ สหภาพยุโรป ใช้มาตรการ TBT จำนวน 77 มาตรการ ลดลงจาก 82มาตรการในปีที่ผ่านมา และ SPS จำนวน 27 มาตรการ ลดลงจาก 77 มาตรการ และประเทศญี่ปุ่น TBT 36 มาตรการ เพิ่มขึ้นจาก 27 มาตรการ และ SPS 42 มาตรการ ลดลงจาก 62 มาตรการ