“ดร.ซุป” มอง ศก.โลกยังซึมตัว แนะรัฐบาลเร่งใช้มาตรการกระตุ้นผ่านโครงสร้างพื้นฐาน “สศค.” ยอมรับตลาดส่งออกหลักโดยเฉพาะสหรัฐฯ อาการน่าเป็นห่วง คาดทั้งปีโตได้ไม่ถึงเป้า เชื่อภาวะ ศก.อาจจะชะลอตัวยาวไปจนถึงปี 60 ทำให้คู่ค้าตีกลับสินค้าจากไทยมากขึ้น โดยอ้างไม่ได้มาตรฐาน และทำผิดเงื่อนไข เผยข้อมูลจาก WTO ระบุสหรัฐฯ เป็นผู้ที่ใช้มาตรการกีดกันทางการค้ามากที่สุดในโลก
นายศุภชัย พานิชภักดิ์ อดีตเลขาธิการการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (UNCTAD) และอดีตผู้อำนวยการใหญ่ องค์การการค้าโลก (WTO) เปิดเผยในงานสัมมนาวิชาการ ศาสตราจารย์สังเวียนฟอรัม 2016 ในหัวข้อ “บริบทใหม่ของไทยในกระแสเศรษฐกิจโลก” ว่า สถานการณ์เศรษฐกิจโลกในปี 59 ยังคงชะลอตัวต่อเนื่อง หรือมากกว่าปีที่ผ่านมา
ทั้งนี้ ในภาวะเศรษฐกิจโลกที่ไม่มีเสถียรภาพ รัฐบาลจำเป็นต้องสร้างความแน่นอนให้เศรษฐกิจไทยผ่านมาตรการระยะต่างๆ โดยการใช้มาตรการระยะสั้น กระตุ้นเศรษฐกิจผ่านโครงสร้างพื้นฐาน เช่น โครงการรถไฟความเร็วสูง รถไฟทางคู่ และรถไฟฟ้าสายสีต่างๆ เป็นต้น ถือเป็นสิ่งที่มาถูกทางแล้ว จากนี้ต้องเร่งดำเนินการเพิ่มรายได้ให้เกษตรกร เอสเอ็มอี และกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ซึ่งเป็นกำลังซื้อหลักที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ผ่านการจัดฝึกอบรมเป็นเวลา 3-6 เดือน เพื่อยกระดับเป็นแรงงานมีฝีมือ จากนั้น จึงปรับขึ้นค่าแรงให้สอดคล้องกับทักษะ
“การดำเนินนโยบายของรัฐบาลในขณะนี้ถือว่ามีการแก้ไขปัญหาที่ดีมาก แต่รัฐบาลไม่ควรให้ความสำคัญกับการกระตุ้นเศรษฐกิจมากเกินไป โดยเฉพาะในช่วงที่เศรษฐกิจโลกยังอยู่ในช่วงชะลอตัว ซึ่งอาจจะส่งผลต่อภาระหนี้สิน แต่ควรจะมุ่งเน้นไปยังการเพิ่มรายได้ของประชากรให้ดีขึ้น โดยเฉพาะรายได้เกษตรกร และกระตุ้นการลงทุนให้มากขึ้น”
ขณะที่สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กระทรวงการคลัง ได้วิเคราะห์แนวโน้มการส่งออกของไทยไปยังประเทศสหรัฐฯ หลังสำนักงานส่งเสริมการค้าของไทย ณ นครชิคาโก้ สหรัฐฯ โดยคาดว่า แนวโน้มการส่งออกของไทยไปยังตลาดสหรัฐฯ ในช่วง 4 เดือนหลังของปีนี้จะต่ำกว่าเป้าหมาย และได้ปรับลดเป้าหมายการส่งออกของไทยไปยังสหรัฐฯ ลงเหลือ 1.0% จากเป้าหมายเดิมที่คาดไว้ที่ 2.0% และคาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะยังมีแนวโน้มชะลอตัวต่อเนื่องไปในปี 2560
ทั้งนี้ จากข้อมูลของมูลค่าการส่งออกของไทยไปยังสหรัฐฯ ในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2559 หดตัวแล้วที่ -1.1% จากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ชะลอตัว ประกอบกับการที่สหรัฐฯ ปฏิเสธสินค้านำเข้าจากไทยเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากสินค้าของไทยบางรายการตรวจพบว่า ไม่ได้มาตรฐาน และไม่เป็นไปตามข้อตกลงที่ทางสหรัฐฯ กำหนด โดยตัวเลขล่าสุด ณ เดือน มิ.ย.2559 สหรัฐฯ มีการปฏิเสธสินค้าของไทย 37 ครั้ง เพิ่มขึ้นที่ 54.1% จากเดือน พ.ค.2559 ที่มีการปฏิเสธเพียง 13 ครั้ง
สศค. ระบุว่า ผู้ประกอบการของไทยควรผลิตสินค้าให้ได้มาตรฐาน และปฏิบัติตามข้อบังคับการนำเข้าสินค้าของสหรัฐฯ อย่างเคร่งครัด เพื่อลดการถูกปฏิเสธการนำเข้าสินค้า และส่งผลดีต่อภาพลักษณ์ของสินค้าไทย รวมถึงส่งผลดีต่อภาพรวมการส่งออกของไทยไปยังสหรัฐฯ ให้สดใสได้ในอนาคต อย่างไรก็ตาม สศค. คาดว่า เศรษฐกิจของสหรัฐฯ ในปี 2559 จะขยายตัวที่ 2.2% จากการคาดการณ์ล่าสุด เมื่อเดือน ก.ค.2559 โดยภาพรวมการส่งออกของไทยยังติดลบ 1.9%
รายงานข่าวเพิ่มเติมระบุว่า สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ ได้รายงานสถานการณ์ทางการค้าระหว่างประเทศว่า ขณะนี้ประเทศคู่ค้าของไทยได้มีการนำมาตรการทางการค้าในรูปแบบต่างๆ มาใช้เพิ่มมากขึ้น โดยมีการนำประเด็นเรื่องความปลอดภัยของอาหาร สุขอนามัย สิ่งแวดล้อม และแรงงาน มาเป็นเงื่อนไข หากไม่ปฏิบัติตามให้ถูกต้องก็จะกระทบต่อการส่งออกสินค้าของไทยไปยังประเทศนั้นๆ
ทั้งนี้ ตลาดหลักของสินค้าส่งออกไทยที่เริ่มใช้มาตรการทางการค้า ได้แก่ สหรัฐฯ ซึ่งได้ปรับปรุงมาตรการความปลอดภัยทางด้านอาหาร เช่น กฎระเบียบควบคุมเพื่อป้องกันความเสี่ยงในอาหารเพื่อการบริโภค กฎระเบียบป้องกันการปนเปื้อนในอาหารสัตว์ กฎระเบียบมาตรฐานความปลอดภัยการเพาะปลูก เก็บเกี่ยว บรรจุและเก็บรักษาในการผลิตเพื่อการบริโภค โดยมีบังคับใช้แล้วเมื่อปี 2558 ที่ผ่านมา และการกำหนดให้ประเทศผู้ส่งออกต้องยื่นรายชื่อบริษัท และเอกสารการเพาะเลี้ยงและแปรรูปปลา มีผล 1 มี.ค. 2559-1 ก.ย. 2560 การกำหนดการติดฉลากสำหรับสูตรอาหารทารก มีผลบังคับ 22 มิ.ย. 2559 การห้ามใช้เม็ดไมโครบิดส์พลาสติก เป็นส่วนประกอบในโฟมล้างหน้า ครีมอาบน้ำและครีมขัดผิว ห้ามผลิต 1 ก.ค. 2560 และห้ามจำหน่าย 1 ก.ค. 2561 และการไม่อนุญาตให้ใช้สาร Partially Hydrogenated Oil : PHOs ในผลิตภัณฑ์อาหาร มีผลวันที่ 18 มิ.ย. 2561
ด้านข้อมูลจากองค์การการค้าโลก (WTO) ณ วันที่ 30 มิ.ย. 2559 พบว่า ในช่วงปี 2558 ที่ผ่านมา มาตรการทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษีที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ในส่วนมาตรการอุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า (TBT) มีจำนวนมากถึง 21,181 มาตรการ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 53.20% ซึ่งเป็นการนำข้อกำหนดด้านเทคนิค และมาตรฐานต่างๆ เช่น บรรจุหีบห่อ การทำเครื่องหมาย และการปิดฉลาก และมาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช (SPS) จำนวน 14,123 มาตรการ เพิ่มขึ้น 35.47% เป็นการนำเรื่องการควบคุมสินค้าเกษตร และอาหาร ไม่ให้เกิดโทษต่อชีวิต และหรือผลเสียต่อสุขภาพของชีวิตมนุษย์ พืช และสัตว์
สำหรับประเทศที่มีการใช้มาตรการสูงสุด เช่น สหรัฐฯ มีการใช้มาตรการ TBT สูงถึง 153 มาตรการ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าที่มีเพียง 96 มาตรการ และมีการใช้มาตรการ SPS 53 มาตรการ สหภาพยุโรป ใช้มาตรการ TBT จำนวน 77 มาตรการ ลดลงจาก 82 มาตรการในปีที่ผ่านมา และ SPS จำนวน 27 มาตรการ ลดลงจาก 77 มาตรการ และประเทศญี่ปุ่น TBT 36 มาตรการ เพิ่มขึ้นจาก 27 มาตรการ และ SPS 42 มาตรการ ลดลงจาก 62 มาตรการ