xs
xsm
sm
md
lg

BCPG กำหนดราคาหุ้น IPO 9.8-10 บาท

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


บีซีพีจีตั้ง บล.กสิกรไทย บล.ทิสโก้ และ บล.ฟินันซ่า เป็นผู้จัดการจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายหุ้น IPO โดยกำหนดช่วงราคาขาย IPO ที่หุ้นละ 9.8-10 บาท เปิดจองซื้อระหว่างวันที่ 14-16 และ 19-20 ก.ย.นี้ เทรดซื้อขายหุ้นได้ ก.ย. 59

วันนี้ (6 ก.ย.) บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) (BCPG) ได้ลงนามสัญญาแต่งตั้งผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์ โดยแต่งตั้ง บล.กสิกรไทย บล.ทิสโก้ และ บล.ฟินันซ่า เป็นผู้จัดการการจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย และแต่งตั้ง บล.เคจีไอ (ประเทศไทย) บล.เคทีซีมิโก้ บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง และ บล.ฟินันเซีย ไซรัส เป็นผู้จัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายในการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนของ BCPG

โดย BCPG จะเสนอขายหุ้น IPO จำนวน 590 ล้านหุ้น หรือ 29.6% ของจำนวนหุ้นที่เรียกชำระทั้งหมดแล้ว โดยกำหนดช่วงราคาเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) เบื้องต้นที่ราคา 9.8-10 บาท/หุ้น และจะประกาศราคาหุ้น IPO ได้ในวันที่ 12 ก.ย.นี้ โดยจะเปิดให้ผู้ถือหุ้น บมจ.บางจากปิโตรเลียม เฉพาะกลุ่มที่มีสิทธิได้รับการจัดสรรหุ้นและนักลงทุนทั่วไปจองซื้อหุ้นในวันที่ 14-16 และ 19-20 ก.ย. 2559 และจะเข้าทำการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้ภายในเดือน ก.ย.นี้

นายบัณฑิต สะเพียรชัย กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทฯ จะมีเม็ดเงินจากการขายหุ้น IPO ประมาณ 5-6 พันล้านบาท รวมกับสัญญาเงินกู้ยืมที่ยังไม่ได้เบิกจ่ายอีก 5 พันล้านบาท หลังจากคืนหนี้ให้บริษัทแม่ไปแล้ว 5 พันล้านบาท และกระแสเงินสดปีละ 500 ล้านบาท ทำให้มีเงินประมาณ 1 หมื่นกว่าล้านบาท สามารถจัดหาเงินกู้เพิ่มเติมรวมทั้งสิ้น 6-7 หมื่นล้านบาท ซึ่งเพียงพอลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนได้อีก 700 เมกะวัตต์

อย่างไรก็ตาม บริษัทมองโอกาสการลงทุนพลังงานหมุนเวียนทั้งญี่ปุ่น เกาหลี ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย พม่า เวียดนาม รวมทั้งอินเดียด้วย โดยเฉพาะญี่ปุ่นได้ประกาศพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์เป็น 8 หมื่นเมกะวัตต์ จากปัจจุบัน 3 หมื่นเมกะวัตต์ ทำให้มีโอกาสอีกมากในการลงทุนโซลาร์ฟาร์มที่ญี่ปุ่น โดยบริษัทฯ สนใจที่จะเข้าไปลงทุนหรือซื้อกิจการโรงไฟฟ้าที่มีสัญญาซื้อขายไฟที่ระดับราคา 36-40 เยน/หน่วย ส่วนเกาหลีก็มีการสนับสนุนพลังงานหมุนเวียนเช่นกัน ทั้งนี้เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่จะขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้งรวมทั้งสิ้น 1 พันเมกะวัตต์ในปี 2563

ปัจจุบันโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในไทยมีกำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัญญา รวมทั้งสิ้น 130 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นโครงการที่ดำเนินการเชิงพาณิชย์อยู่แล้ว กำลังการผลิตตามสัญญา 118 เมกะวัตต์ และโครงการโซลาร์ฟาร์มสหกรณ์ที่อยู่ระหว่างการพัฒนาอีก 12 เมกะวัตต์ คาดว่าจะแล้วเสร็จในปลายปีนี้ ส่วนโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในญี่ปุ่นมีกำลังการผลิตตามสัญญา 194 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นโครงการที่ดำเนินการเชิงพาณิชย์ตามสัญญา 20 เมกะวัตต์ และอยู่ระหว่างการพัฒนากำลังการผลิตอีก 174 เมกะวัตต์ ซึ่งปีหน้าจะทยอยแล้วเสร็จอีก 40-50 เมกะวัตต์
กำลังโหลดความคิดเห็น